วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ต่อเด็กช่วงอายุ 3-12ปี

                โทรทัศน์เป็นสื่อที่คนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะมองไปทางไหน บ้านทุกหลังก็จะต้องมีโทรทัศน์ไว้สำหรับรับข่าวสารข้อมูล กล่าวได้ว่า โทรทัศน์มีความจำเป็นสำหรับชุมชนเมือง โทรทัศน์ถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อทุกคนเป็นอย่างมาก ถือเป็นสื่อระดับต้นๆที่คนบริโภคในแต่ละวัน เพราะมีทั้งภาพและเสียง สามารถดึงดูดความสนใจของคนได้ โดยเฉพาะในวัยเด็ก ที่สามารถรับรู้โดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการตีความ ในแต่ละช่วงวัยของเด็กจะต้องมีการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องกัน ดังนี้
ลักษณะของวัยเด็กตอนต้น ( อายุ 3-6 ปี ) : วัยแห่งการสำรวจ เด็กจะมีสมรรถภาพในด้านการคิด สติปัญญา รวมถึงภาษา วัยเด็กตอนต้นอยู่ในขั้นที่ 2 ของพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียร์เจต์ ซึ่งจะเรียกว่าขั้นก่อนปฏิบัติการ(Preoperational stage) เด็กมีการพัฒนาจากการกระทำที่ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวจากวัยทารกมาเป็นการใช้สัญลักษณ์ เด็กจะเข้าใจและเรียนรู้การใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งต่าง ๆ ได้ จึงเรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างภาพแทนสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาในใจได้ นั่นคือ เด็กเริ่มมีการคิดจินตนาการได้ แต่อย่างไรก็ตาม การคิดการเข้าใจของเด็กวัยนี้ก็ยังมีลักษณะที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ในหลากหลายมิติไปพร้อม ๆ กัน ทำให้การคิดมีลักษณะที่ยังไม่สมบูรณ์ตามความเป็นเหตุและผลที่ถูกต้องได้ เด็กจะสามารถเล่นแบบสมมุติ ( make believe play) แสดงให้เห็นถึงว่าเด็กสามารถเลือกวัตถุและจินตนาการถึงตัวแทนที่ตนเองต้องการได้ การคิดของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน  เริ่มเรียนรู้การพูดและพัฒนาภาษา รวมถึงการเรียนรู้ที่จะสร้างการแสดงออกทางด้านอารมณ์ของตนเองกับพ่อแม่หรือคนอื่นๆ
ลักษณะของวัยเด็กตอนปลาย ( อายุ 6-12 ปี ) : วัยเข้ากลุ่มเพื่อน เด็กจะมีการพัฒนาด้านสติปัญญาอยู่ในขั้นปฏิบัติการคิดรูปธรรม (Concrete operational stage) ของพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียร์เจต์ ซึ่งเด็กสามารถใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ได้ เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมเพราะต้องการเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน  และการพัฒนาความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จริยธรรมและค่านิยม
สถานการณ์ผลกระทบในเด็กไทย จากงานวิจัยของเอแบคโพลล์ในปี 2546 เรื่อง ผลกระทบสื่อโทรทัศน์ต่อเด็ก พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง สังเกตว่ารายการโทรทัศน์มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กในระดับปานกลางค่อนไปทางมาก ตั้งแต่การซื้อสินค้าตามโฆษณา การเลียนแบบท่าทางในการ์ตูน การเลียนแบบทั้งการแต่งตัว คำพูดก้าวร้าว ใช้คำด่า ด้านความรุนแรง ชกต่อย ตบตี  นอกจากนี้ พ่อแม่ยังกังวลเรื่อง เซ็กส์ล้นจอ ซึ่งมาจากหนังต่างประเทศ ละครก่อนข่าว/หลังข่าว การ์ตูนญี่ปุ่น/ฝรั่ง มิวสิควีดีโอ และการแต่งตัวของพิธีกรตามลำดับ ซึ่งพฤติกรรมทางเพศที่มักพบในโทรทัศน์ที่จะส่งผลต่อเด็ก ได้แก่ การแต่งตัววาบหวิว ค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การแสดงออกทางเพศในที่สาธารณะ
การที่เด็กซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่สมองกำลังมีพัฒนาการทางด้านภาษาสูงสุด  คือในช่วงวัยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป   เป็นช่วงที่เด็กจะเริ่มหัดฟังและเรียนรู้ที่จะพูด   เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้  และต้องการการตอบรับจากคนรอบข้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านภาษา  แต่การที่ให้เด็กนั่งดูโทรทัศน์ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) อาจยิ่งส่งผลให้เด็กที่พัฒนาการทางด้านภาษาช้าเนื่องจากไม่ได้มีความจำเป็นที่จะโต้ตอบทางภาษา เด็กวัยนี้ยังต้องเรียนรู้ผ่านการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) ขณะดูโทรทัศน์ผู้ปกครองควรพยายามชี้ชวนพูดจาซักถามเด็ก เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางภาษา  นอกจากนั้นโทรทัศน์ นำเสนอเพลงที่มีการใช้ภาษารุนแรง และภาษาวัยรุ่น ทำให้เกิดค่านิยมการใช้ภาษาผิดๆได้
การโฆษณาขนมขบเคี้ยวที่ล่อตาล่อใจเด็ก ทำให้เด็กติดขนมถุง และอาจส่งผลต่อภาวะโภชนาการทั้งโรคอ้วนเพราะได้รับปริมาณไขมันเกิน หรือเด็กอาจเกิดภาวะขาดสารอาหาร เพราะทานขนมจนอิ่ม และทานอาหารหลักได้น้อย ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบหมู่
ในด้านพัฒนาการทางด้านการรับรู้และการรู้คิดของเด็ก เด็กที่ดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ เด็กจะเกิดเรียนรู้ ซึมซับ เลียนแบบตามพฤติกรรมที่ไม่ดีและสร้างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ละครไทย เด็กดูละครที่ตัวร้ายมีพฤติกรรมที่ส่อถึงความรุนแรง ผิดศีลธรรมและได้รับผลดีในตอนแรกๆ เด็กจะเข้าใจว่าสิ่งที่ผิดๆนั้น ทำแล้วได้ผลดี เด็กก็อาจเกิดพฤติกรรมเลียบแบบได้เลย โดยที่เด็กอาจไม่ได้สนใจว่าในตอนจบพฤติกรรมที่ผิดๆจะส่งผลเสียอย่างไร เพราะเด็กจะรับรู้แค่สิ่งที่ตนเองเห็นเท่านั้น
การนำเสนอข่าวทางลบซ้ำๆมากจนเกินไป ทำให้เด็กเรียนรู้และเลียนแบบสิ่งไม่ดี กรณีที่เด็กมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ถูกเพิกเฉยละเลยจากผู้ปกครอง เด็กจะรู้สึกอยากเรียกร้องความสนใจ อยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนหรือคนอื่นๆ จึงหันมาทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและถ้าได้รับการตอบสนอง เช่น มีการนำเสนอข่าวที่เป็นกระแส การได้รับการยอมรับ การยกย่องจากกลุ่มเพื่อน  เด็กจะรู้สึกเหมือนการได้รับรางวัล ได้ถูกตอบสนองความต้องการของตน สามารถทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำๆ ขึ้นอีกได้ เด็กในช่วงวัย10ปีขึ้นไปการตัดสินถูกผิดของการกระทำจะอยู่ที่ผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับ หากกระทำสิ่งใดแล้วได้รับรางวัลหรือได้รับสิ่งที่น่าพึงพอใจ เด็กก็จะตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ถูกหรือควรทำ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของสังคม (พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก; Instrumental Relativist Orientation)
ตามทฤษฎีของแบนดูรากล่าวว่าการเรียนรู้ของคนไม่จำเป็นต้องดูในแง่ของการแสดงออกเท่านั้น เพียงแค่ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้แล้ว และเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมการแสดงออกจึงอาจมีขึ้นได้ เช่น เด็กที่ได้เห็นตัวอย่างการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวจากละครอยู่บ่อย ๆ เด็กอาจไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกให้เห็นทันที แต่เมื่ออยู่ในสภาพการณ์ที่เล่นกับเพื่อน ๆ แล้วไม่พอใจ เด็กก็อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่ตนเคยได้เห็นอยู่บ่อย ๆ นั้นออกมาต่อเพื่อนได้ การเรียนรู้นั้นเกิดได้จากการสังเกตตัวแบบ ซึ่งสื่อโทรทัศน์จัดเป็นตัวแบบสัญลักษณ์ที่ส่งผลต่อการสร้างพฤติกรรมของเด็กได้ (Socail Cognitive Theory; Albert Bandura )
                การเสนอมิวสิกวีดีโอของเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง ส่งผลต่อเด็กที่มีพัฒนาการทางอารมณ์ไม่สมบูรณ์ ทำอะไรโดยขาดความยั้งคิด เช่น เด็กวัยรุ่นที่อกหัก ดูมิวสิกวีดีโอเพลงที่ตัวละคนอกหักแล้วพยายามฆ่าตัวตาย เด็กอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตายตาม        
นอกจากนั้นพ่อแม่ที่ใช้โทรทัศน์เลี้ยงลูก อาจส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้น เนื่องจากภาพในโทรทัศน์เป็นภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจเด็กได้ดี ก่อให้เกิดลักษณะนิสัยที่ไม่อยู่นิ่ง ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆได้ ส่งผลให้เด็กสมาธิหลุดเวลาเรียนหนังสือ มีความลำบากในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิเป็นเวลานาน ขาดความอดทน
จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็ก 60% ดูทีวีโดยไม่มีผู้ใหญ่แนะนำ เด็กจะเปิดรับสื่อได้เต็มที่โดยไม่มีการแยกแยะไตร่ตรอง  เด็กจะไม่สามารถแยกแยะถูกผิดว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ
ดังนั้นเมื่อเราไม่สามารถที่จะควบคุมการผลิตสื่อได้ ก็จะเป็นบทบาทของผู้ปกครองที่จะเลือกสื่อที่สร้างสรรค์และเหมาะสมกับวัยของเด็ก และควรพูดคุย แนะนำบุตรหลานของตนเพื่อแยกแยะความเป็นจริงกับจินตนาการของภาพในโทรทัศน์ เพราะเด็กจะมีความสามารถในการรับรู้ เรียนรู้ และเลียนแบบสิ่งรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว เด็กมักจดจำและทำตามทันที โดยแสดงออกมาในคำพูดและการกระทำอย่างชัดเจน เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีการแสดงออกอย่างเปิดเผย เพราะฉะนั้นความเหมาะสมของการได้รับเนื้อหาสาระจากสื่อโทรทัศน์สามารถช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี

เด็กอายุ 3-5ปี

พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กวัยนี้เป็นไปอย่าง รวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องความสูงและน้ำหนัก การเพิ่มของ น้ำหนักเกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ ในตอนต้นของวัยนี้ สัดส่วนของร่างกายเปลี่ยนแปลงใกล้เคียงกับผู้ใหญ่มากขึ้น ทำให้สามารถกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวดีขึ้น เด็กจึงชอบวิ่ง กระโดด ไม่หยุดนิ่ง การหยิบจับและการช่วยเหลือตนเอง สามารถควบคุมและบังคับการทรงตัวได้ดี ทำให้เด็กวัยนี้ พร้อมที่จะทำกิจกรรมเกี่ยวกับการออกกำลัง การเล่นกลางแจ้ง การใช้มือก็มีความละเอียดขึ้น เด็กสามารถแต่งตัวเองได้ หวี ผม แปรงฟันได้เอง และสามารถช่วยทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้  เราจะเห็นว่าเด็กในวัยนี้มีการพัฒนาด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กดังนี้
กล้ามเนื้อมัดใหญ่ 
-          ยืนขาเดียวได้นานขึ้น
-          ปีนป่ายบันไดและเครื่องเล่นกลางแจ้ง
-          เดินลงบันไดแบบสลับขา
-          วิ่งหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้
-          ถีบจักรยาน 3 ล้อได้
-          วิ่งไปเตะลูกบอลได้โดยไม่ต้องหยุดเล็ง
กล้ามเนื้อมัดเล็ก
-          วาดรูปสี่เหลี่ยมตามแบบได้
-          วาดรูปคนที่มีส่วนต่างๆได้ 3 ส่วน
-          ร้อยลูกปัดขนาดเล็กได้
-          เลียนแบบการทำสะพานได้
-            ตัดกระดาษกรอบรูปได้
 เด็กจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องให้ผู้ใหญ่เฝ้าในการเล่น ใช้พลังงานไปกับการเล่น จะรู้สึกดีที่ได้แสดงออกในสิ่งที่ตนต้องการ เต็มใจลองของใหม่และสิ่งแปลกใหม่



พฤติกรรมของเด็กอายุ 3-5 ปี
ชอบตั้งคำถาม  เด็กในวัยนี้มีพัฒนาการทางภาษาค่อนข้างมาก  สามารถเล่าเรื่องเป็นประโยค
         ยาวๆได้  ร้องเพลงง่ายๆได้   ทำให้มักชอบตั้งคำถาม   ช่างคิด  ช่างสงสัยในสิ่งต่างๆ
                         เริ่มช่วยเหลือตนเองได้  เช่น รับประทานอาหาร  แต่งตัว  ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ด้วยตนเอง   และยังชอบช่วยผู้ใหญ่ทำงานเล็กๆน้อยๆ เราควรส่งเสริมให้เด็กเกิดความภูมิใจด้วยการชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำ  และให้ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆด้วยตนเอง
                          เล่นกับเพื่อน มักจะเล่นอยู่ในกลุ่มเพื่อน 2-3 คน ทำให้ได้เรียนรู้เงื่อนไขทางสังคมใหม่ๆที่นอกเหนือไปจากที่บ้าน  เริ่มบอกความแตกต่างระหว่างเพศได้  Piaget นักจิตวิทยากลุ่มที่เน้นความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) กล่าวว่า เด็ก 3-5 ขวบ เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมจากเพื่อนในโรงเรียนอนุบาลหรือเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน แต่เด็กวัยนี้ยังเข้าใจถึงความถูกต้องและความผิดไม่ลึกซึ้งนัก
                          มีจินตนาการ  เด็กวัยนี้ชอบของเล่นที่ใช้ความคิด  หากได้เล่นจินตนาการ  หรือแสดงบทบาทสมมุติจะเล่นได้เรื่อยๆ เช่น พ่อแม่ ครู ตำรวจ ซึ่งเด็กมักจะเล่นบทบาทสมมติเป็นบุคคลที่มีอำนาจในสายตาเด็ก การเล่นบทบาทสมมติเป็นสิ่งที่เราควรส่งเสริมเพราะช่วยให้เด็กได้มีจินตนาการ  และเป็นการปลดปล่อย   บางครั้งเวลาที่ให้เด็กเล่าเรื่องอาจเป็นเรื่องจริงปนเรื่องสมมุติ  พ่อแม่และผู้ปกครองควรต้องระวังไม่ให้กลายเป็นติดนิสัยโกหก  โดยไม่ควรใช้วิธีดุว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง  แต่อาจใช้วิธีการทำให้เด็กรู้ว่ากำลังพูดเรื่องโกหก เช่น
คุณแม่ - ใครทำน้ำหก
หนูเล็ก- พี่แดงทำค่ะ
คุณแม่ - พี่แดงไปโรงเรียนแล้ว จ๊ะ หนูไปเอาผ้ามาเช็ด วันหลังต้องอย่าวิ่งเวลาถือแก้วน้ำนะจ๊ะลูก
เจ้าอารมณ์  เด็กในวัยนี้มักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเปิดเผย  เช่น โมโห  ไม่พอใจมักแสดง
อาการกระทืบเท้า   อิจฉาอะไรโดยไม่มีสาเหตุ  และกลัวอะไรอย่างสุดขีด  อาจเกิดจากสัญชาตญาณหรือระดับสติปัญญาที่เพิ่มมากขึ้น  ทำให้รู้ว่าสิ่งใดมีอันตราย
ในด้านพฤติกรรมนั้นผู้ใหญ่ควรเข้าใจว่าเด็กในวัยนี้มีจินตนาการสูง  และกำลังอยู่ในช่วงของการ
เรียนรู้สังคมที่นอกเหนือไปจากที่บ้าน  ทำให้การแสดงออกของพฤติกรรมอาจไม่เหมาะสม  แต่จะต้องแยกตัวเด็กออกจากพฤติกรรมของเขา เช่น จะต้องบอกว่า “ครูรักหนู แต่ครูไม่ชอบในสิ่งที่หนูทำ หนูทำแจกันแตกเป็นสิ่งที่ไม่ดี มันทำให้เกิดอันตราย” แต่ถ้ามันเป็นอุบัติเหตุก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า ไม่เป็นไรมันเป็นเพียงอุบัติเหตุ คราวหน้าหนูควรทำอย่างนี้ และที่สำคัญครูควรต้องระวัง ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ควรให้เด็กคิดถึงสิ่งที่เขาควรทำได้ สำหรับวัยนี้และจะต้องชมเชยเมื่อเด็กทำได้ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง รวมทั้งเรื่องความคิด การตัดสินใจ การสร้างทัศนคติที่ดี ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสามารถที่จะทำได้  

ทักษะสำคัญในการใช้ชีวิต ของเด็กอายุ 3-5 ปี
                         ทักษะที่ต้องเริ่มฝึกหัดและฝึกฝนให้ลูกก็คือสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิตของเขาในวัยปัจจุบัน และจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่ทักษะชีวิตที่ยากและซับซ้อนขึ้น ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคตข้างหน้า
ความคล่องแคล่วชำนาญในทุกๆ พัฒนาการทางกาย ที่จะเกิดขึ้นตามวัย เช่น เดิน วิ่ง กระโดด
หยิบจับสิ่งของ ขีดเขียน การพูดจาสื่อสาร ซึ่งเกิดขึ้นได้จากกิจกรรมต่างๆ
ส่งเสริมได้โดย : ให้ลูกได้เล่นออกกำลัง เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขน-ขา มือ-นิ้วมือ ฝึกการทำงาน
ประสานกันของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ การทรงตัว เช่น พาไปเล่นในสนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสนาม เคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี เตะบอล ขี่จักรยาน 3 ล้อ ต่อบล็อก ปั้นแป้ง
  • ให้ลองลงมือทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองบ้าง ตามวัยที่เขาทำได้ เช่น ให้ลองจับแปรงแปรงฟันเอง ล้างมือ ล้างหน้า กินอาหาร ถอด-ใส่เสื้อผ้า รองเท้า เริ่มจากง่ายๆ ก่อนโดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และอาจช่วยเหลือบ้างถ้าเห็นว่าลูกต้องการ ระหว่างนี้สามารถวางแบบแผนที่ควรจะเป็นของกิจวัตรได้ด้วย เช่น แปรงฟันตอนเช้า-ก่อนเข้านอน ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ถอดรองเท้าวางเข้าที่ เป็นต้น 
  • จัดกิจกรรมที่เด็กจะได้สื่อภาษา เช่น ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง เล่านิทาน เล่นบทบาทสมมติ พูดคุยกับลูกให้มากในทุกๆ ช่วง ทุกๆ กิจกรรมที่ได้อยู่กับเด็ก เช่น ขณะเล่น ขณะทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้เด็กได้เห็นตัวอย่างการใช้ภาษา ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ และต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองใช้ภาษา ด้วยการชวนคุยแบบตั้งคำถามและให้ความสำคัญกับการฟังในสิ่งที่เด็กพยายามสื่อสาร  
สร้างทักษะชีวิต : การทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เช่น ทำกิจวัตรประจำวันได้เอง ช่วยเหลือตัวเองได้
สามารถทำและสื่อสารให้ผู้อื่นรู้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ สิ่งเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่ความเชื่อมั่น และการเห็นคุณค่าในตัวเอง
ถ้ายิ่งมีโอกาสทำอะไรด้วยตัวเองบ่อยเท่าไร โอกาสของการได้ลองผิดลองถูก ได้คิดวิเคราะห์
แก้ปัญหา ตัดสินใจในระหว่างที่ทำกิจกรรมเหล่านี้นั้นก็จะมีมากขึ้น ความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจก็จะสะสมมากขึ้นเป็นวงจรเรียนรู้ ที่มีแต่ได้กับได้ นอกจากนี้เด็กๆ ที่ช่วยเหลือตนเองได้มาก จะเป็นคนที่รู้จักรับผิดชอบและปรับตัวง่ายด้วย

ความชำนาญ ในการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เด็กๆ ต้องได้ฝึกทักษะการใช้สายตา การรู้จักแยกแยะ
กลิ่น เสียง การลิ้มรสและสัมผัสที่แตกต่าง

ส่งเสริมได้โดย : การจัดหนังสือ ของเล่นที่จะกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสครบทุกด้าน เช่น
ของเล่นที่มีสีสัน มีเสียง เคลื่อนไหวได้ หรือแม้แต่การเล่นจ๊ะเอ๋ ซ่อนหาสิ่งของ เล่นทราย กิจกรรมทดสอบประสาทสัมผัส หนังสือสีสันสดใสมีรูปแบบน่าสนใจ เช่น หนังสือภาพ หนังสือ pop up เป็นต้น
  • จัดสิ่งแวดล้อมให้หลากหลายและน่าสนใจ ที่ช่วยเร้าความสนใจในการเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งภายในบ้าน รอบบ้านหรือการพาลูกไปเที่ยวที่ต่างๆ และชี้ชวนให้ลูกสังเกต ลงมือทำ สัมผัสกับของจริง หรือแม้แต่การจัดเมนูอาหารที่หลากหลาย ที่สำคัญไม่ต้องสกัดกั้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กด้วยการละเลยคำถาม หรือตอบอย่างดุดันรำคาญ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปี ที่เด็กเป็นเจ้าหนูจำไมชอบซักถาม
สร้างทักษะชีวิต : เด็กจะได้รู้จักโลกรอบๆ ตัว ทั้งสัตว์ สิ่งของ ผู้คน สถานที่ ฯลฯ สั่งสมเป็น
ฐานข้อมูลในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ นำไปสู่ความเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด วิเคราะห์ สามารถแยกแยะความแตกต่างของสิ่งรอบตัวได้ และเมื่อความอยากรู้อยากเห็นได้รับการตอบสนองอยู่เรื่อยๆ ลูกจะกลายเป็นเด็กที่มีความกระหายใคร่รู้ กระตือรือร้นกับสิ่งใหม่ อยากรู้อยากลอง
ทักษะในการสัมพันธ์กับผู้อื่น  โดยการเรียนรู้วิธีสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
ส่งเสริมได้โดย : โอบกอด สัมผัส ให้ความรัก ดูแลและปฏิบัติต่อเด็ก บุคคลอื่น หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงด้วยท่าทีอ่อนโยน พูดจาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เป็นการให้แบบของการแสดงออกทั้งกิริยาและคำพูดที่เหมาะสม
  • ดูแลเด็กโดยใช้เหตุใช้ผลผ่อนปรนตามความต้องการของลูกบ้างในบางเรื่อง เพื่อให้เริ่มเรียนรู้ที่จะแยกแยะสิ่งที่ควรและไม่ควร และเห็นวิธีการจัดการกับความไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ เป็นฐานของการคิดวิเคราะห์หาเหตุผล การแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนหาวิธีที่ดีที่สุด
  • พาไปร่วมกิจกรรมที่ต้องสัมพันธ์กับคนอื่นและให้ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนอกบ้าน เช่น เมื่อไปซื้อของ เวลาที่เข้าแถวรอจ่ายเงินหรือทำธุระต่างๆ ให้เด็กได้อยู่ร่วมในบรรยากาศแบบนี้บ้าง ระหว่างรอก็เล่าให้รู้ว่ากำลังทำอะไร ทำไมจึงต้องรอ ถ้าทำเป็นประจำเด็กจะค่อยๆ ซึมซับและเรียนรู้วัฒนธรรมของการเข้าคิว รู้จักรอคอย และเคารพสิทธิ์ผู้อื่น
  • ให้เรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้ให้ ผู้รับ เช่น เทศกาลต่างๆ ก็พาลูกไปช่วยเหลือ ช่วยเตรียมของขวัญให้ญาติ เพื่อน หรือให้เด็กเป็นคนมอบของขวัญนั้น หรือการซื้ออาหารให้สัตว์ตามสวนสัตว์ การให้อาหารสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ก็เป็นกิจกรรมที่เป็นฐานไปสู่การรู้จักคิดถึงผู้อื่น การมีน้ำใจได้
ทักษะทางด้านอารมณ์ คนที่มีทักษะทางอารมณ์ที่ดี คือคนที่รู้จักและเท่าทันอารมณ์ตัวเอง จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ เกิดขึ้นได้จากความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และการมีอารมณ์มั่นคง
 ส่งเสริมได้โดย : เลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ โอบกอด สัมผัสอย่างสม่ำเสมอ จะเกิดเป็นความไว้วางใจ เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นที่รัก ไม่ถูกทอดทิ้ง เป็นฐานของการเห็นคุณค่าในตัวเอง
  • สนใจและให้อิสระเด็กได้ทำในสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่สนใจ โดยให้เด็กคิด เลือกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยให้คำแนะนำให้การสนับสนุนและชื่นชม ก็จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่สนใจ ยอมรับจากคนที่เขารัก ก็เกิดเป็นความมั่นใจ เห็นคุณค่าตัวเอง อารมณ์มั่นคง
  • จัดของเล่น กิจกรรมที่ลูกได้แสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เล่านิทาน การฟังเพลง การเล่นจินตนาการกับตุ๊กตา ของเล่นต่างๆ การทำงานศิลปะ ทั้งที่เล่นคนเดียว เล่นรวมกับพ่อแม่หรือคนอื่นๆ หรือจะเป็นของเล่นหรือกิจกรรมที่เด็กจะได้ใช้สมาธิจดจ่อ เช่น เกมต่อภาพ ต่อบล็อก แป้งปั้น ร้อยลูกปัดก็ช่วยสร้างอารมณ์ที่มั่นคงได้ แม้แต่วิธีการเล่นของเล่นทีละ 1 อย่าง เล่นแล้วเก็บแล้วค่อยหยิบของเล่นชิ้นใหม่มาเล่น วิธีนี้สอนได้ทั้งเรื่องวินัยและสมาธิ การจดจ่อทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เด็กได้ และสิ่งนี้ยังเป็นฐานของการพัฒนาไปสู่ความมุมานะ พยายามตั้งใจได้อีกด้วย
ธรรมชาติของเด็กและเยาวชนคือ  การอยากเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ  อยู่เสมอ  ประกอบกับในยุคสมัยนี้มีเครื่องมือสื่อสารต่างๆ  ที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่ายและรวดเร็ว  ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตหรือเกมออนไลน์  ทำให้เยาวชนขาดความระมัดระวังในการเลือกรับสื่อเหล่านี้  และบางคนอาจจะเลือกรับสื่อที่ไม่เหมาะสม  ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อตัวเด็กและเยาวชนได้อีกด้วย

จิตวิทยาของเด็กอายุ 3-5 ปี
ในวัยนี้เป็นช่วงที่เด็กมีสมรรถภาพทางกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสดีมากขึ้น เด็กเริ่มที่จะเคลื่อนไหว ต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว Erik H. Erikson กล่าวว่า ในวัยนี้เป็นวัยที่เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ช่างซักถาม เป็นเจ้าหนูจำไม ซึ่งผู้ใหญ่ควรโต้ตอบให้ความรู้กับเด็กเพราะจะส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก เด็กจะคิดใหม่ พูดใหม่ ทำอะไรใหม่ๆ ทุกวัน ระบบความจำและสมาธิดีขึ้น และเป็นวัยที่มีจินตนาการสูง มีความคิดแบบที่ยึดเอาตนเองเป็นหลัก และคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้มีชีวิตมีความรู้สึก เช่น ต้นไม้ร้องไห้ถ้าโดนตัด เป็นต้น แต่ก็จะเริ่มลดลงในช่วงหลัง ให้เหตุผลง่ายได้ๆ จินตนาการบางอย่างของเด็กนั้นผู้ใหญ่ต้องคอยดูและแยกแยะระหว่างความจริงกับจินตนาการให้เด็กเพื่อไม่ให้เด็กติดนิสัยโกหก ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ต้องสนับสนุนให้เด็กได้สร้างสรรค์จินตนาการของตนเองอย่างเหมาะสม เช่น มีของเล่นที่สามารถใช้เล่นบทบาทสมมติได้ ตุ๊กตามือ หรือนิทานต่าง ๆ ซึ่งเด็กที่ได้รับการส่งเสริมเต็มที่จะกลายเป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเล่นบทบาทสมมติเป็นการช่วยระบายความกลัว เช่น เด็กกลัวหมอฟัน การเล่นบทบาทสมมติเป็นหมอฟันอาจช่วยลดความกลัวตรงนี้ได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นว่าเด็กกลัวฝังใจ นอกจากนั้นการเล่นบทบาทสมมติยังพัฒนากระบวนการคิดเป็นขั้นตอน การให้เด็กได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ และพ่อแม่ต้องรู้จัก “ชม” อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการเสริมแรงให้ลูกกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป หากเด็กทำผิด ก็ต้องลงโทษอย่างเหมาะสมเช่นกัน แต่การลงโทษนั้นไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมถาวรเท่ากับการเสริมแรงด้วยการชม นอกจากนี้ ในวัยนี้เป็นวัยที่เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยจะมีการเลียนแบบพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกันซึ่งเป็นการเรียนรู้บทบาททางเพศ Albert Bandura กล่าวว่า พฤติกรรมส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้โดยการสังเกต หรือเรียนรู้จากตัวแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวแบบที่เป็นบุคคลจริง ๆ เช่น พ่อแม่ เพื่อน ครู หรือตัวแบบเชิงสัญลักษณ์ เช่น ตัวละครในโทรทัศน์ ตัวการ์ตูน หากตัวแบบใดทำพฤติกรรมแล้วได้รับรางวัล ตัวเด็กก็มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นๆ ตามตัวแบบที่ได้รับรางวัล จริยธรรมของเด็กในวัยนี้จะเริ่มพัฒนาแต่จะพัฒนาจาก ตัวแบบ การลงโทษ การให้รางวัล และการสั่งสอน
การเล่นของเด็กนั้นเด็กจะมีกลุ่มเพื่อนอาจจะสองถึงสามคน ซึ่งการเล่นเป็นกลุ่มนี้ช่วยให้เด็กเรียนรู้กฏเกณฑ์ รู้จักสร้างกฎและทำตามกฎ การปรับตัวและการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น เป็นการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเล่นเป็นกลุ่มนี้ยังช่วยลดความคิดที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของเด็กด้วย เพราะเมื่อเล่นกับคนอื่น เด็กย่อมต้องรู้จักการปรับตัว และหัดมองในมุมของคนอื่นเพื่อตนเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งและเล่นร่วมกับคนอื่นได้ นอกจานั้นยังทำให้เกิดการเลียนแบบกันเองด้วย
หากพ่อแม่ ผู้ปกครองให้การสนับสนุนที่ดีแก่เด็กได้ เด็กในวันนี้ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า

พัฒนาการของเด็กแรกเกิดถึง 4 เดือน

พัฒนาการ ทางด้านร่างกาย การเจริญเติบโตที่เห็นได้ชัด
น้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7-0.9 กก ต่อเดือน
ความยาวลำตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-4 ซม.ต่อเดือน
ทารกเริ่มหันมองดูรอบๆ และเริ่มอ้วนท้วนสมบูรณ์ พร้อมทั้งเริ่มพัฒนากล้ามเนื้อ
 และเริ่มลดความจ้ำม่ำลงเมื่อเขาเริ่มมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น

การเคลื่อนไหวร่างกายกล้ามเนื้อหลังและคอเริ่มเหยียดตรง และเริ่มพัฒนาความสมดุลของลำตัว
ขณะเดียวกันศรีษะ และคอเริ่มก้าวหน้าโดยชูศรีษะขึ้นได้ตั้งตรงและมั่นคง
ยกศรีษะและหน้าอกช่วงลำตัวได้โดยใช้แขนพยุงหน้าท้องไว้
เริ่มนั่งเองได้แต่ยังต้องพิง
เริ่มพลิกตัวม้วนกลับด้านข้างได้ภายในเดือนที่ 4 ขณะเดียวกันเขาสามารถที่จะ
เหยียดและยืดขาเต็มที่พร้อมทั้งเตะขาเมื่อนอนเหยียดนอนคว่ำเหยียดขายืดยาว
วางเท้าลงบนพื้นที่หนาแน่นมั่นคง
ทักษะการใช้นิ้วและมือ
 เริ่มกำและแบมือเริ่มสนใจวัตถุและสิ่งของที่อยู่ขวางหน้า จับ เขย่าและเขวี้ยง เอาเข้าปาก
เอานิ้วหัวแม่โป้งใส่ปากแล้วดูด
การมองเห็น/ การได้ยิน/ การพัฒนาคำพูด การมองเห็น เมื่ออายุ 1 เดือน ทารกสามารถมองเห็นชัดเจน ในระยะ 12 นิ้ว เท่านั้น
ระยะทางของความชัดในการมองเห็นจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ระยะ หรือมากกว่า 4 เดือน และเรียนรู้ที่จะจ้องมองให้นานขึ้น และพยายามเลียนแบบสีหน้าที่แสดงออกของคุณ
การมองเห็นสีก็อยู่ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จากการจำกัดในการเห็นอยู่ที่เพียงสีขาวและดำ พัฒนาเป็นสีธรรมชาติเต็มรูปแบบภายในเดือนที่ 4
ความสนใจของทารกก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นจากสิ่งง่ายๆไปสู้เส้น วงกลม และรูปแบบที่ซ้ำซ้อนมากยิ่งขึ้น
เริ่มประสานความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวของมือและตา การได้ยินและการออกเสียง
สามารถระบุเสียงที่มาของคุณแม่ได้และยิ้มตอบรับ
สามารถหันศีรษะกลับไปยังแหล่งต้นกำเนิดเสียงได้
เริ่มพูดอ้อแอ้ไม่ชัดเจนและชอบเลียนเสียง
พยายามเรียนรู้การแปลความหมายจากอารมณ์ของคุณแม่ จากน้ำเสียงที่โต้ตอบ เช่นการยิ้ม เพื่อคุณแม่พูดจาด้วยอย่างผ่อนคลาย

พํฒนาการ ด้านบุคลิกภาพ การเข้าสังคม/ อารมณ์
เริ่มเรียนรู้ที่จะยิ้มเพื่อเป็นวิธีสื่อสาร และเรียกร้องความสนใจจากคุณ
ชอบเล่นกับผู้คนแต่จะร้องไห้เมื่อการเล่นจบลง
แสดงความรู้สึกผ่านทางสีหน้าและร่างกาย
พูดเสียงอ้อแอ้และชอบเลียนเสียงต่างๆ

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เปิดประเด็น..พัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับศิลปะเด็ก


     
          เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา...
           ที่ศูนย์ศิลปะบ้านกลางทุ่ง
           และบ้านกลางทุ่ง ออร์กานิกโฮมมีโอกาส
           ร่วมโครงการศิลปะและธรรมชาติ
           ของโรงเรียนเขาดินวิทยาคาร กาญจนบุรี
           ที่เรารีบรับปากร่วมจัดกิจกรรมกับทางโรงเรียน
           น่าจะเป็นเพราะเจตนารมณ์เดียวกัน
           เราจัดกิจกรรมศิลปะให้เด็กๆทุกปิดเทอม
           แต่คราวนี้ที่ตื่นเต้นเห็นจะเพราะเป็นเด็กปฐมวัย



 ความจริงในเรื่องของศิลปะเด็ก...
"จิตใจของเด็กย่อมสะท้อนออกมาจากงานศิปะของเขา"
 ศิลปะมาจากการทำงานของสมอง..
"รูปที่เด็กวาดนั้นมิใช่เพียงเส้นสายที่ยุ่งเหยิง
 หรือสีสันอันเลอะเทอะ
 หากแต่เป็นจินตนาการจากโลกแห่งจิตใจของเขาเอง "
 "งานศิลปะเป็นการระบายความกดดัน
  ความอัดอั้นตันใจของเด็กออกมา
  แทนที่จะเก็บเอาไว้หรือเก็บกด
  จนวันหนึ่งเกิดระเบิดออดมา" 


                                     
เราเริ่มให้เด็กเรียนศิลปะจากธรรมชาติ
ไปเที่ยวสวนป้าเตียว..ไหว้พระที่วัดอินทาราม
แล้วเด็กๆก็ได้ตะโกนร้องเพลง
แข่งกับสายลมที่กลางทุ่งนา


                

      อ่านประโยชน์ของศิลปะเด็กเช่น
      ศิลปะช่วยระบายความกดดัน
      ศิลปะพัฒนาวงจรสมอง
      ศิลปะช่วยคลายเครียด
      งานศิลปะสะท้อนตัวเด็ก
      เด็กใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารความคิด
      งานศิลปะของเด็กเป็นสิ่งอันอัศจรรย์
      อยากให้เด็กมีโอกาสกันมากๆ
      แต่เส้นหนักหรือเบา สีเข้มหรือสีอ่อน
      ไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องวิจารณ์
      ควรมุ่งไปที่จิตใจ จิตวิญญาณเด็กเป็นสำคัญ


เมื่อเด็กทำการปั้น
วงจรทุกวงจรในสมองจะเชื่อมโยงกัน
สมองส่วนคิดจะทำงาน จะจินตนาการว่าปั้นอะไร
และแน่นอนคือ ทำไมเขาเลือกสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้
กระบวนการนี้ทำไห้เด็กเกิดปัญญาและความคิดสร้างสรรค์
เห็นมั้ยละ..ว่ามันไม่สำคัญที่ความสวยงาม


ในขณะที่เด็กปั้น..
เด็กจะใช้นิ้วมือและตาสัมพันธ์กัน
สมองส่วนที่เกี่ยวข้องคือ ส่วนรับภาพ
ส่วนรับสัมผัส และส่วนความเคลื่อนไหว
ถ้าคุณได้เห็นตอนที่เด็กๆสร้างสรรค์งานศิลปะ
คุณจะมีความสุข..ขณะที่เด็กเขาสุขยิ่งกว่า
ขอบคุณครูป้าเต่า..ครูประจำชั้น และผู้บริหาร
ที่เปิดโอกาสให้เด็กมีวันนี้..
และนี่อาจเป็นการเปิดประเด็น
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ที่สำคัญประเด็นหนึ่ง



ขอขอบคุณที่มาทางวิชาการ :
การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร Brain-base Learningด้านศิลปะและการสร้างสรรค์   สถาบันส่งเสริมอัจริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้(สสอน.)

ผลงานศิลปะเด็ก

กระตุ้นลูกคิดด้วย 5 กิจกรรม



การคิด เป็นพลังสร้างสรรค์เรื่องดีทั้งต่อตัวเด็กและผู้อื่น แต่ก่อนที่ลูกๆ จะเข้าใจเรื่องนี้มีทักษะความคิดดีๆ เกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยแบบอย่างการสะสมประสบการณ์จากคุณพ่อคุณแม่ ลองมาดูวิธีการจากกิจกรรมต่อไปนี้ เพื่อเป็นแนวทาง นำไปปรับใช้ชวนลูกๆ คิดกันค่ะ
1. ชวนคุย
ทุกๆ เรื่องที่ลูกพูดคุยเป็นประจำกับคุณนั่นแหละค่ะ แม้ว่าเรื่องที่ลูกคิดสิ่งที่พ่อแม่ได้ยินได้ฟัง ดูเหนือธรรมชาติ ต่างจากความจริง แต่หากคิดตามฟังเสียงลูกจะเข้าใจว่า ลูกมีความคิดอย่างไร สนใจสิ่งใด และโลกจินตนาการของลูกที่แฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์สามารถนำมาต่อยอดชวนลูกคิดได้
How to
สังเกตว่าลูกใส่ใจกับอะไร สิ่งใด เพื่อคอยช่วยสนับสนุนหรือให้ลูกได้เรียนรู้ สัมผัสจากของจริง เช่น ลูกชอบการปั้น การสร้างหุ่นยนต์ ก็อาจพาลูกไปดูการแข่งขันหุ่นยนต์
2. ชวนอ่านหนังสือ
วิธีที่ง่ายที่สุด คือการหยิบนิทาน หนังสือสักเล่มที่ลูกชอบ อ่านให้ลูกแล้วตั้งคำถามให้ลูกสนใจ ได้คิดในขณะที่พ่อแม่เป็นฝ่ายสนับสนุนโลกจินตนาการ ตอบในสิ่งที่ลูกถาม สร้างความคิดในมุมบวกให้ได้มากที่สุดจะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้คิด รู้จักแสดงความคิดเห็น
How to
หมั่นตั้งคำถาม เปิดโอกาสดีๆ ให้ลูกแสดงความคิดของตัวเองขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่สอดแทรกความคิดเห็น อธิบายในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ลูกก็จะได้เรียนรู้ รู้จักรับฟังเหตุผลผู้อื่นด้วย
3. ชวนสนุกกับงานบ้าน
ชวนลูกเก็บกวาด เช็ดถู ทำความสะอาดบ้านห้องนอน ของเล่น กิจกรรมง่ายๆ ในบ้านที่แสนง่าย และมีประโยชน์ เมื่อลูกทำได้แล้ว จากนั้นค่อยๆ เพิ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสามารถและวัยของลูกเป็นที่ตั้ง
How to
พยายามให้ลูกคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำสิ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เมื่อลูกทำได้ก็ควรชื่นชมและชมเชย ให้ลูกรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำได้
4. ตั้งโจทย์ ทดสอบไอคิว/อีคิว
ลองตั้งโจทย์ง่ายๆ ตรวจดูความคิดกับลูกด้วยสถานการณ์บางเรื่อง เช่น ถูกรังแก ถูกเพื่อนแย่งของเล่น เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่า ลูกจัดการกับปัญหาอย่างไรค่ะ
How to
ควรให้ลูกรู้ด้วยว่า อุปสรรค ปัญหา ความผิดหวังเป็นเรื่องที่เราทุกคนพบเจอได้ แต่สิ่งสำคัญคือการยอมรับกับความจริง สิ่งที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะจัดการแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมได้อย่างไร
5. ชวนดูข่าว สารคดีดีๆ
นำมาเป็นประเด็นพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือสิ่งที่ลูกคิด เช่น ข่าวการลักขโมย การทำร้าย… เป็นต้น จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็อาจสอดแทรกทัศนคติที่ดีหรือวิธีคิดที่เป็นบวก เมื่อฝึกบ่อยๆ วิธีคิดเหล่านี้จะส่งถึงตัวลูก
How to
สอนให้ลูกรู้และเข้าใจว่า ในประเด็นเรื่องเดียวกันความคิดของแต่ละคนอาจรู้สึกและคิดได้หลากหลายมุมมอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การคิดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ความเป็นเหตุเป็นผลค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother & Care ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552

สุขภาพเด็กไทยไม่ใช่เรื่องเล็ก

น้องนัท เป็นเด็กชายวัย 10 ปี ผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ และอ้วนท้วม มีน้ำหนักเกือบ 50 กิโลกรัม หากมองจากด้านหลัง คนจะคิดว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ พ่อหนูคนนี้ไม่ค่อยมีความสุขนัก เพราะถูกเพื่อนล้อว่าเป็นยักษ์เสมอ จริงอยู่เขาอาจจะมีแรงเยอะ จนไม่มีใครกล้ารังแก แต่ความที่เคลื่อนไหวช้า คิดช้า กินเยอะชอบหลับในเวลาเรียน และเหนื่อยง่าย หายใจขัดเสมอทำให้เขากลายเป็นคนพิเศษที่เพื่อนๆ มักมองข้าม เมื่อต้องรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมหลายอย่างในชั้น
ย้อนกลับไปดูชีวิตประจำวันของนัท เขาต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อให้พ่อแม่พาไปโรงเรียนชื่อดังในย่านธุรกิจกลางใจเมือง เขากินอาหารเช้าในรถ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำพวกข้าวกับเนื้อสัตว์ทอด นมปรุงแต่งกลิ่นและรสอีกหนึ่งกล่องใหญ่ บางครั้งก็มีขนมขบเคี้ยวตบท้าย
ระหว่างวันอาจไม่ได้กินอะไรมากนัก แต่เขาก็ต้องคร่ำเคร่งกับหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการ ปลูกฝังเด็กๆ ด้วยระบบการแข่งขันอย่างหนักหน่วง เพราะพ่อแม่ค่อนข้างคาดหวังในตัวของเขาสูงมาก
ตกเย็นเมื่อพ่อแม่มารับ น้องนัทก็ได้กินน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ แฮมเบอร์เกอร์ และมันฝรั่งทอด ซึ่งพ่อแม่มักซื้อมาให้เป็นอาหารมื้อบ่ายไม่อั้น ก่อนจะได้กินหมู เป็ด ไก่สารพัดเมนูในภัตตราคารหรูเป็นอาหารมื้อค่ำ
ในวันหยุด น้องนัทก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอโทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ อันเป็นกิจกรรมบันเทิงราคาแพงซึ่งเพื่อนๆ ในโรงเรียนของเขานิยมกันมาก
หลายคนที่รู้จักน้องนัทบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นเด็กที่มีความเครียดสูงกว่าเด็กทั่วไป ไม่ค่อยร่าเริงเหมือนเด็กอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกันแพทย์ประจำตัวน้องนัทอาจ ไม่ได้เน้นเรื่องนี้เท่าไรนัก ทุกครั้งที่แม่พาไปหาหมอเกือบทุกเดือนนั้น แพทย์บอกเพียงว่าเขาเป็นภูมิแพ้ และให้ยามากินหลายขนาน เรียกได้ว่านอกจากอาหารมากมายที่กินในแต่ละวันแล้ว เขายังต้องกินยาอีกมากมายควบคู่ไปด้วย
จากเรื่องของน้องนัท ช่วยให้พอมองเห็นปัญหาสุขภาพบางอย่างของเด็กไทย ซึ่งเราทุกคนจะต้องร่วมมือแก้ไข ก่อนที่เจ้าตัวน้อยที่เรารักและหวงแหนจะเจ็บป่วยด้วยหลายโรค
สุขภาพเด็กไทย
แพทย์หญิงนิชรา เรืองดารกานนท์แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยให้ทราบว่าปัญหาเรื่องสุขภาพเด็กคงมีอยู่เหมือนเดิม ปัญหาเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาเด็กขาดสารอาหารก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในเขตนอกเมือง
ความอ้วนของเด็กมักมาจากการบริโภคอาหาร สมัยใหม่หรือที่เรียกกันติดปากว่าอาหารจานด่วน เป็นเพราะได้รับสารอาหารไม่เหมาะสม ได้บางอย่างเกินและขาดบางอย่างไป
พ่อแม่บางคนเข้าใจว่าลูกกินนมเยอะจะดี การกินนมเยอะเกินไปจะทำให้ได้อาหารไม่ครบถ้วน เพียงพอ ยิ่งในวัยที่เกินหนึ่งขวบไปแล้ว นมควรเป็นแค่อาหารเสริมเท่านั้น ไม่ใช่อาหารหลัก เพื่อให้ได้แคลเซียมบ้าง แต่ถ้ากินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมสูงมากอยู่แล้ว ก็ลดปริมาณนมได้อีก

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารจานด่วนก็หนีไม่พ้นเรื่องไขมัน หรือไตรกลีเซอร์ไรด์ อาจเป็นผลระยะยาว ซึ่งไม่แสดงอาการทันที แต่มันจะสะสมสูงต่อเนื่อง จนกลายเป็นเส้นเลือดอุดดัน ความดันสูงก่อนวัยที่ควรจะเป็น

เด็กอ้วนจะมีผลต่อการนอนด้วย เพราะความอ้วนจะส่งผลต่อระบบการหายใจ เหมือนภาวะอุดตันชั่วขณะ ยิ่งถ้ามีต่อมทอนซิน หรือต่อมอะดีนอยด์โตอยู่แล้ว พออ้วนก็ยิ่งทำให้หายใจลำบากขึ้น กลางคืนจึงนอนกรน กระสับกระส่าย ผุดลุกผุดนั่ง นอนหลับไม่สนิท ก็ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ปัญหาเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ปัญหาเรื่องสารพิษ การปนเปื้อนพวกสารตะกั่ว สารหนูต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาการ และสติปัญญาอย่างถาวร ถึงการรักษาเบื้องต้นจะทำให้หายได้ แต่ก็มีผลต่อเนื่องระยะยาว
การที่เด็กต้องตื่นแต่เช้ามาก ทำให้เวลานอนไม่พอเพียง ซึ่งอาจทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เพราะฮอร์โมนที่ทำให้เด็กโตจะหลั่งตอนที่หลับสนิทและนอนนานเพียงพอ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเครียด เพราะชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขัน ผู้ใหญ่เครียด ก็ส่งผลให้เด็กเครียดเช่นกัน ซึ่งความเครียดส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้และจิตใจของเด็ก ก่อให้เกิดความผิดปกติหลายอย่าง เช่น สมาธิสั้น ก้าวร้าว ซึมเศร้า แม้แต่โรคภูมิแพ้ เพราะเมื่อเครียด ภูมิต้นทานก็ลดลง เป็นหวัดบ่อย เป็นต้น
“การที่พ่อแม่ทำงานหนัก ชีวิตแข่งขัน มีความเครียดสูง ทำให้มีเวลาลดลง เด็กจึงมีโอกาสออกกำลังกายน้อยลง ทั้งพ่อแม่และลูกก็ไม่มีเวลาเหมือนกัน เพราะไปด้วยกัน เด็กจึงไม่มีโอกาสได้ออกแรงตามวัยที่ควรจะเป็น วิ่งเล่น เพื่อลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ชีวิตและสังคมทางหนึ่ง เมื่อไม่ได้ออกกำลังกาย และเอาแต่เล่นวีดีโอเกม เกมคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ปัญหาก็โยงกลับไปสู่ความอ้วนอีกนั่นละ”
เรื่องของมะเร็งในเด็ก คุณหมอนิชราบอกว่าโอกาสที่เด็กจะเป็นมะเร็งมีมากขึ้น ในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะมลภาวะต่างๆ และสารพิษส่วนใหญ่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น ควันบุหรี่ ขณะเดียวกันโรคติดเชื้ออื่น ๆเช่นท้องร่วง ปอดบวมลดลง เพราะมีการให้วัคซีนทั่วถึง
โรคทางจิตในเด็กพบว่าเพิ่มขึ้น  แค่เราเห็นตามข่าวก็รู้ว่ามากขึ้น เช่นฆ่าตัวตาย ฆ่ากันตาย  ทั้งภาวะซึมเศร้า มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายสูง
ปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรมหลายอย่าง อาจไม่เหมือนผู้ใหญ่และเด็กโต เช่น เด็กไม่จำเป็นต้องนั่งร้องไห้ หรือไม่กินข้าวกินปลา นอนไม่หลับ จึงจะแปลว่าเป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งความซึมเศร้าอาจเบี่ยงเบนเป็นความซนมาก อยู่ไม่นิ่ง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว เพราะเขาหงุดหงิดอยู่ภายใน
นอกจากนี้โรคออทิสติก ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของเซลล์สมองในทางการแพทย์ก็มีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางระบาดวิทยาว่าเยอะขึ้น
ปกป้องหนูอย่างเอาใจใส่
การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย คงเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนตัวเล็กอย่างเรา แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาสุขภาพของเด็ก ก็สามารถแก้ไขง่ายๆ ด้วยความรักความเอาใจใส่ ตระหนักถึงธรรมชาติและความต้องการของเจ้าตัวน้อยใกล้ๆ ตัวคุณเอง
เริ่มต้นด้วยการให้เวลากับเขามากขึ้น ทำกิจกรรมด้วยกัน เรียนรู้ลักษณะเฉพาะของเขา ขณะเดียวกันก็สังเกตความเปลี่ยนแปลงของเขา ว่ามีพฤติกรรมบางอย่างไม่ชอบมาพากลหรือไม่ จากนั้นก็ปรึกษาหารือกันในระหว่างผู้ใหญ่ในบ้าน และหาวิธีช่วยเหลือเขา
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในครอบครัว เพื่อลดปัญหาบางอย่างของเด็กก็มีส่วนช่วยได้มาก เช่น หยุดส่งเสริมวัฒนธรรมการแข่งขันในสังคม แต่ให้หันมาปรองดอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แทน เพราะอย่าลืมว่า เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ถ้าแม่แบบในครอบครัวเป็นอย่างไร เด็กก็จะเป็นเช่นนั้น
…และบัญญัติห้าประการอันได้แก่ ใช้ชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ อยู่อย่างเรียบง่ายและรู้จักความพอดี มีความเห็นอกเห็นใจ รักกันอย่างพี่อย่างน้อง ดูแลสุขภาพกายใจให้เป็นเลิศ และข้อสุดท้ายคือ พยายามสร้างสังคมที่ยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
เชื่อเถอะว่า ถ้าคุณทำได้ เด็กๆ ก็จะทำตาม นอกจากสุขภาพของเจ้าตัวน้อยและตัวคุณเองจะดีขึ้นแล้ว สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวอาจจะดีขึ้นด้วย
ส่วนด้านสุขภาพก็ควรชักจูงเด็กๆ ให้ผละจากโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ด้วยกิจกรรมกลางแจ้ง หรือการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ก็ควรโน้มน้าวให้เจ้าตัวน้อยละเลิกอาหารฟาสต์ฟู้ด และหันมาสนใจอาหารธรรมชาติบ้าง

บำรุงสมองเด็กด้วยอาหารชีวจิต
จริงอยู่ที่ร่างกายของเด็กกำลังเจริญเติบโต ต้องการสารอาหารบำรุงร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ แต่พืชผักหลายชนิดก็ให้ทำหน้าที่นี้ได้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหงแนะนำอาหารบำรุงสมองและระบบประสาทสำหรับเจ้าตัวน้อยดังนี้ค่ะ
 Folic Acid มีอยู่ในผักใบเขียวจัดทุกชนิด เช่น แครอท ตับ ไข่แดง แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ถั่วแดง-ดำ-เหลือง
ข้าวซ้อมมือ และข้าวสาลีไม่ขัดขาว
 Niacin ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ปลา ไข่ ถั่วลิสงคั่ว อะโวคาโด อินทผลัม มะเดื่อ ไก่ (เนื้อขาว)
 Zinc จมูกข้าว เมล็ดฟักทอง บริเวอร์ยีสต์ ไข่ นม มัสตาร์ดผง
 Potassium ส้ม ส้มโอ แคนตาลูป มะเขือเทศ แห้ว ผักใบเขียว สะระแหน่ เมล็ดทานตะวัน กล้วยน้ำว้า มันเทศ มันฝรั่ง
 Kelp คือ ต้นไม้ทะเล เกลือแร่ที่ต้องการจาก Kelp คือ ไอโอดีน สาหร่ายทะเลทุกชนิดก็ใช้ได้
 Tryptophan คอตเตจชีส นม เนื้อสัตว์ ปลา กล้วย อินทผลัม ถั่วลิสง
 Phenylalanine ถั่วเหลืองและผลิตผลจากถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ หอย กุ้ง คอตเตจชีส นม ถั่วอัลมอนด์ ถั่วลิสง งา เมล็ดฟักทอง
 B1 ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ข้าวสาลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ตับ แคนตาลูป กะหล่ำปลี โมนาส นม ไข่ เนื้อ
 B6 ข้าวซ้อมมือ ข้าวสำลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ตับ แคนตาลูป กะหล่ำปลี โมนาส นม ไข่ เนื้อ
 B12 ตับ เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนย
 DNA/RNA จมูกข้าว รำข้าว ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด ทุกชนิด ปลา ตับไก่ ข้าวโอต หัวหอม
 อาหารบางอย่างมีทั้งตัวยา วิตามินแร่ธาตุครบ เช่น ข้าวซ้อมมือ
แม้เด็กจะตัวเล็ก แต่ปัญหาสุขภาพของเขาไม่เล็กสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่แน่นอน ฉะนั้น เราต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลลูกหลานของเราก่อนจะสายเกินไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
การดูแลสุขภาพเด็กจะต้องเอาใจใส่เป็นอย่างมาก
ผู้ปกครองควรให้ความสนใจลูกน้อยให้มากๆ

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ภาพวาดผลงานเด็กปฐมวัย








ภาพนี้วาดระบายสีโดย เด็กชายอัศนี สินไพร เด็กน้อยเขียนข้อความไว้ด้วยค่ะ ว่า "ขอให้ท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง"  สั้น ๆ และน่ารัก น่าประทับใจค่ะ













ภาพเหล่านี้ล้วนได้มาจาก อินเตอร์เน็ต
เป็นผลงานของเด็กๆ น่ารักมาก เด็กๆทำได้สวยงานขนาดนี้ถือว่าดีมากสำหรับฉัน

ศิลปะกับเด็กปฐมวัย


       เด็กปฐมวัยในวัย 1 – 3 เด็กวัยนี้โครงสร้างสมองซีกขวาซึ่งเกี่ยวกับศิลปะ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ดีมาก ถ้าส่งเสริมอย่างถูกทิศถูกทางและทำให้เกิดพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อไหร่ที่เราไปขัดขวางพัฒนาการ บีบบังคับ สร้างความเป็นระบบแบบแผนมากเกินไป ล้วนแล้วแต่เป็นตัวขัดขวางจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
      ไทยยังไม่มีความเข้าใจในการพัฒนาเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์ จะเห็นว่าทุกวันนี้เราพยายามสร้างกระบวนการคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กไทยมากขึ้น หากแต่บางครั้งก็ยังไม่มีความเข้าใจมากพอ เด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกันในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการคิดสร้างสรรค์จึงต้องต่างกันไป
      เด็กในวัย 1 – 3 ปีต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ เราจะเน้นให้เด็กเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เมื่อเขาสนุกและเพลิดเพลิน แล้วจะทำให้เขาสามารถคิดอะไรได้แปลกใหม่อย่างมีอิสระและเสรีภาพ  คนที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กต้องเข้าใจ มิฉะนั้นจะไม่สามารถสร้างสถานการณ์ของการเรียนการสอนได้ ในการพัฒนาเสรีภาพการเขียนการคิดได้อย่างแท้จริง
     วิชาศิลปะเป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดจินตนาการได้เต็มที่ตามที่ได้เห็น เด็กสามารสร้างจินตนาการได้กว้างกว่าที่เราจะคาดเดาได้ บางที ก็อาจจะสะท้อนจิตใจความรู้สึกของเด็กที่บางที่ไม่สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดได้แต่สามารถถ่ายทอดมาทางงานศิลปะได้ วิชาศิลปะเป็นฐานทางการศึกษาพัฒนาการเด็กซึ้งควรเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่การเรียนการสอนศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นจะมุ่งเน้นถึงพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กมากกว่าผลงาน ดังนั้นจะเห็นว่ากิจกรรมต่างๆทางศิลปะจะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรงและสัมพันธ์กับการใช้ตา เช่นการปั้นแป้ง ดินน้ำมัน วาดรูป และระบายสี เด็กได้ใช้ส่วนต่างๆของนิ้วมือ แขน ไหล่ และส่วนอื่นๆของร่างกาย เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่-เล็กเป็นอย่างดี ทำให้เด็กสามารถหยิบจับสิ่งต่างๆได้ อันจะนำไปสู่การเรียนของเด็กต่อไป
      ศิลปะกับความคิดสร้างสรรค์ นักจิตวิทยาทางการศึกษาทั่วโลกเชื่อกันว่าเด็กทุกคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถพัฒนาให้เจริญงอกงามได้ตามระดับความสามารถของแต่ละบุคคล  ถ้าหากเด็กนั้นๆได้รับการเสริมและสนับสนุนให้มีการแสดงออกภายใต้บรรยากาศที่มีเสรีภาพ สำหรับเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ในตัว สามารถพิจารณาจากพฤติกรรมได้หลายด้านดังนี้  
1.การเป็นผู้กระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา
2.การเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยความคิดของตนเอง
3.การเป็นผู้ชอบสำรวจตรวจสอบความคิดใหม่ๆ
4.การเป็นผู้เชื่อมั่นในความคิดของตังเอง
5.การเป็นผู้สอบสวนสิ่งต่างๆ
6.การเป็นผู้มีประสาทสัมผัสอันดีต่อความงาม
       จะเห็นได้ว่าการสร้างสรรค์ คือการเจริญงอกงามทั้งด้านความคิด ร่างกาย และพฤติกรรมและศิลปะคือ เครื่องมือที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพราะกระบวนการทางศิลปะไม่มีขอบเขตแห่งการสิ้นสุด สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้แก่เด็กได้ตลอดเวลานอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กเกิดความคิดที่ต่อเนื่องอย่างไม่จบสิ้น และก้าวไปยังโลกแห่งจินตนาการอย่างไม่มีขอบเขต  
 การวาดรูประบายสีเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งซึ้งช่วยในการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา เด็กจะรู้จัก สี เส้น รูปทรง พื้นผิว ขนาดที่จะต้องพบในชีวิตประจำวันของเขา ภาพที่จะเห็นต่อไปนี้เป็นภาพที่วาดโดยเด็กปฐมวัยอายุ 3-4 ขวบ เป็นภาพที่วาดตามความคิดและจินตนาการของเด็กเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งซึ้งช่วยในการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา เด็กจะรู้จัก สี เส้น รูปทรง พื้นผิว ขนาดที่จะต้องพบในชีวิตประจำวันของเขา 

     การปั้น   
                                                               
      การปั้นดินน้ำมันหรือ ดินเหนียว แป้งโด ฯลฯ มาปั้นเป็นรูปต่างๆตามจินตนาการของเด็กแต่ละคนซึ้งจะแตกต่างกันไป เป็นการฝึกสมาธิ และพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆของเด็กเด็กจะได้เรียนรู้รูปร่างต่างๆ
 
   การพิมพ์   
 
     การพิมพ์ภาพเป็นการสร้างภาพหรือลวดลายที่เกิดจากการนำวัสดุหลายๆประเภท เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ก้านกล้วย หรืออวัยวะของร่างกาย เช่น มือ เท้า มาใช้เป็นแม่พิมพ์กดทับลงบนสีแล้วนำไปพิมพ์บนกกระดาษหรือผ้าก็ได้     
 เรียนศิลปะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร
      ทำให้เด็กได้ฝึกการใช้จินตนาการอย่างอิสระ ซึ่งจะมีผลให้เด็กเป็นคนกล้าคิด กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆทำให้เด็กได้แสดงออกถึงสิ่งที่ตนคิดและรู้สึกโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารทางตัวอักษรได้ดีทำให้เด็กรักการทำงานและมีความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของเด็กแต่ละชิ้นเสร็จสิ้นลง เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานของเขามาก ทำให้กระตือรือร้นที่จะสร้างผลงานชิ้นใหม่ต่อไปช่วยฝึกความประณีตและสมาธิเพราะในขณะที่เด็กพยายามควบคุมมือให้สามารถวาด ระบายสีหรือประดิษฐ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จนั้นต้องใช้ความตั้งใจ ความพยายามและใช้สมาธิที่แน่วแน่มั่นคงตามวุฒิภาวะของเด็กแต่ละวัย ทำให้เด็กเป็นคนมีสุนทรียภาพ มีความละเอียดอ่อนในจิตใจ ทำให้รู้คุณค่าในธรรมชาติ ศิลป วัตถุ หรือรูปแบบความคิดต่างๆ ทำให้มีชีวิตและจิตใจที่งดงาม ฝึกให้เด็กรู้จักการทำงานร่วมกัน รู้จักปรับตัวและปรับความคิดให้สอดคล้อง ยอมรับซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีและเป็นประชาธิปไตยในสังคม
    แหล่งข้อมูลหนังสือแนวการจัดกิจกรรมและสื่อการเรียนการสอนระดับก่อนประถมศึกษา 

ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยในแต่ละวัน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กปฐมวัย นอกจากจะได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตาแล้ว กิจกรรมศิลปะยังสอดคล้องกับแบบแผนการเรียนรู้ของสมอง หรือที่เรียกว่า Brain Base Learning (BBL) อีกด้วย เด็กจะได้ฝึกปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง เรียนรู้ผ่านการสังเกตและฝึกกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อพัฒนาจุดเชื่อมต่อของใยประสาท ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย มีอิสระทางความคิด กิจกรรมศิลปะ เป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมโยงพัฒนาการของอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อของใยประสาทที่สามารถพัฒนาไปสู่แบบแผนการเรียนรู้ของสมอง ในการจัดกิจกรรมศิลปะหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ ครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กมีประสบการณ์ตรงและฝึกปฏิบัติอย่างหลากหลาย หากย้อนอดีต สะท้อนประสบการณ์เดิมด้านการเรียนการสอนศิลปะ คุณครูจะให้นักเรียนวาดภาพทิวทัศน์ในกระดาษวาดเขียน แนวคิดเดิม ๆ คือ ภาพทิวทัศน์จะมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างภูเขา มีก้อนเมฆ มีต้นมะพร้าวหรือต้นไม้อื่น มีน้ำทะเล มีเรือใบ มีนกบิน ฯลฯ แต่ยุคปัจจุบันการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย จะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กอย่างหลากหลายรูปแบบนะครับ เช่น - กิจกรรมวาดภาพระบายสี - กิจกรรมเล่นกับสีน้ำ เช่น เป่าสี หยดสี พับสี ระบายสีด้วยนิ้วมือ ฝ่ามือ - กิจกรรมการพิมพ์ภาพด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและวัสดุต่าง ๆ - กิจกรรมการปั้น ขยำดินเหนียว ดินน้ำมัน แป้งโด กระดาษ ฯลฯ - กิจกรรมการพับ ฉีก ตัด ปะ - กิจกรรมการร้อย สาน และการออกแบบ - กิจกรรมการฝนสีด้วยกระดาษทราย ฯ ล ฯ ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ครูสามารถส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่เพิ่มจุดเชื่อมต่อของใยประสาท โดยส่งเสริมให้เด็กสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ พัฒนาการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตา การพัฒนาระบบกายสัมผัสโดยให้เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันในระหว่างทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ผ้ากระสอบ ผ้าสักหลาด กำมะหยี่ กระดาษทราย กระดาษที่มีผิวสัมผัสต่างกัน ฯลฯ ระหว่างทำกิจกรรมศิลปะ ครูต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น แสงสว่างพอเหมาะ มีเสียงดนตรีเบา ๆ บรรยากาศผ่อนคลาย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสมองส่วนประสาทสัมผัสกับสมองส่วนที่คุมกล้ามเนื้อพร้อม ๆ กัน การเชื่อมโยงสมองซีกซ้ายเข้ากับซีกขวาที่เป็นด้านจินตนาการ ดังนั้น งานศิลปะจึงไม่ควรเป็นการลอกเลียนแบบหรือต้องทำให้เหมือนจริง รวมทั้งไม่เน้นความถูกต้องของสัดส่วน แต่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กสนุกสนาน ซึมซับความงามของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีความมั่นใจ ภาคภูมิใจในผลงานของตน ควบคู่กับความสามารถถ่ายทอดการรับรู้ภายในด้านมิติ รูปทรง ขนาด ระยะ ฯลฯ ตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็ก

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เรื่องเพลงสำหรับเด็กปฐมวัย

การสอนส่วนมากจะเกี่ยวกับการร้องเพลงเพลงที่สอนเด็กปฐมวัยมีเนื้อร้องที่ช่วยพัฒนาและให้ความรู้แก่เด็กหลายด้านเช่น
1. ด้านร่างกายหรือด้านพลานามัยในการสอนนี้ผู้สอนต้องใช้ท่าทางประกอบ เนื่องจากชอบการเคลื่อนไหวไม่ชอบอยู่นิ่ง ในการร้องเพลงควรทำท่าประกอบด้วย เด็กจะได้ทำท่าตามครูหรือคิดขึ้นเอง


1. ส่งเสริมด้านการออกกำลังกาย เช่น

เพลงกายบริหาร

กำมือขึ้นแล้วหมุน หมุน ชูมือขึ้นโบกไปมา (ซ้ำ)
กางแขนขึ้นและลง พับแขนขึ้นแตะไหล่
กาวแขนขึ้นและลง ชูขึ้นตรงหมุนไปรอบตัว

ผู้แต่ง ครีนวล รัตนสุวรรณ


2. ปลูกฝังด้านสุขนิสัยเช่น

เพลง แปรงฟัน
แปรงซิ แปรง แปรงฟัน ฟันหนูสวยสะอาดดี
แปรงขึ้น แปรงลงทุกที่ สะอาดดีเมื่อหนูแปรงฟัน

ผู้แต่ง เตือนใจ ศรีมารุต

เพลงอย่าทิ้ง
อย่าทิ้ง อย่างทิ้ง อย่าทิ้ง ทิ้งแล้วจะสกปรก
ถ้าเราเห็นมันรก ต้องเก็บ ต้องเก็บ ต้องเก็บ

ผู้แต่ง เตือนใจ ศรีมารุ


2. ด้านอารามณ์ ขณะที่เด็กร่วมร้องเพลงหรือทำท่าทาง เด็กมีอาการร่างเริงแจ่มใสสนุกสนาน ดวงตาเป็นประกายอย่างมีความสุขเมื่อเขาทำได้ เพลงจะช่วยคลายเครียด มีความสดชื่นบางเพลงทำให้สนุกเช่น


เพลง ตุ๊บป่อง

ติง ตลิง ติงต๊อง เรือเราลอย ตุ๊บป่อง
ลอยไปตามน้ำไหล ลอยไป ลอยไป ในคลอง
ตุ๊บป่อง ตุ๊บป่อง ตุ๊บป่อง ตุ๊บป่อง ตุ๊บป่อง

ผู้แต่ง ฐะปะนีย์ นาครทรรพ

3. ด้านสังคม เด็กมาโรงเรียนจะต้องเข้าสังคมใหม่ และสถานที่ใหม่ เพื่อนใหม่ ครู หรือคนอื่นๆ สิ่งที่จัช่วยให้เด็กคุ้นเคย และเข้ากับผู้อื่นได้ก็ใช้เพลงเป็นสื่อ ช่วยให้เด็กสนิทสนม กับครูและเพื่อน เนื้อเพลงที่ร้องเช่น
เพลงสวัสดี
สวัสดี สวัสดี ยินดีที่พบกัน
เธอกับฉัน พบกันสวัสดี

ผู้แต่ง ศรีนวล รัตนสุวรรณ

4. ด้านสติปัญญา เพลงช่วยให้มีความรู้ และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ดี ช่วยให้จำได้เร็วกว่า การบอกเล่า ฝึกให้รู้จักคิดและได้ความรู้เช่ย
คณิตศาสตร์ ช่วยให้เด็กมีความเข้าใจ และจดจำเกี่ยวกับจำนวน หรือความหมายขอบงคำ ทางคณิตศาสตร์เช่น
เพลงนกกระจิบ

นั่นนกบินมาลิบๆ นกกระจิบ 1,2,3,4,5
อีกฝูงบินล่องลอยมา 6,7,8,9,10ตัว

ผู้แต่ง ศรีนวล รัตนสุวรรณ

เพลง แม่ไก่ออกไข่
แม่ไก่ออกไข่วันละฟอง ไข่วันละฟอง ไข่วันละฟอง
แม่ไก่ของฉันไข่ทุกวัน หนึ่งวันได้ไข่หนึ่งฟอง
2 วันได้ไข่ 2ฟอง จนถึง10ฟอง

ผู้แต่งศรีนวล รัตนสุวรรณ

เห็นไหมค่ะเพื่อนๆ เพลงมีคุณค่าแก่เด็กมากมายการที่เด็กได้ร้องเพลง ได้ทำท่า
ตามเนื้อเพลงหรือตามจังหวะ จะช่วยไม่ให้เด็กเบื่อการเรียน ทั้งช่วยให้ทุกส่วนของกล้ามเนื้อ ตลอดจน ตา หู มือ เท้า มีความคล่องว่องไว และช่วยพัฒนาร่างกายของเด็กได้ดี อีกทั้งได้รับความสนุกสนานและความรู้ด้วย

ที่มา เอกสารประกอบการอบรมอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก

การนำเพลงไปจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย


ความหมาย
การร้องเพลง หมายถึง กิจกรรมที่จัดให้กับเด็กให้เด็กได้แสดงออกเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และเรียนเกี่ยวกับภาษา เนื้อหา จังหวะและดนตรีของเพลงที่ร้อง

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เด็กได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่เบื่อหน่าย
2. เพื่อให้เด็กได้รับความรู้อย่างสนุกสนาน เพราะเป็นการเรียนแบบปนเล่น
3. เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้เด็กมีนิสัยอ่อนโยน
4. เพื่อให้เด็กเกิดความคิดริเริ่มในการแสดงท่าทางประกอบ
5. เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายในการเคลื่อนไหวร่างกายกับจังหวะเพลง
6 เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมให้เด็กมีโอกาสปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และร่วมงานกันได้ดี เกิดความสามัคคี

เพลงสำหับเด็กเริ่มเรียน
ในระยะแรกเริ่มเรียนควรมีเนื้อเพลงสั้นๆกระฉับและง่ายต่อการจดจำ สาระของเนื้อเพลงต้องเหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก คำที่ใช้ร้องควรเป็นคำศัพท์ที่เด็กเข้าใจ ทำนองเพลงง่ายๆเสียงเพลงไม่สูงหรือต่ำ มีจังหวะชัด เด็กๆชอบเพลงที่มีความสนุกสนาน เด็กเล็กๆร้องตามจังหวะเร็วไม่ได้ แต่โตขึ้นเด็กจะร้องจังหวะเร็วได้เอง

การนำเพลงไปจัดกิจกรรมให้กับเด็ก
ครูควรเลือกเนื้อเพลงง่ายๆ มีเนื้อร้องสั้นๆ ตรงกับความต้องการของครูว่าต้องการให้เด็กร้องเพลงเพื่ออะไร เช่น บางครั้งอาจใช้ร้องเพื่อเป็นเรียกความสนใจของเด็กก่อนเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ในลักษณะการนำเข้าสู่บทเรียน (การเก็บเด็ก) หรืออาจใช้ในการเรียนการสอน การสรุปทบทวนความรู้จากบทเรียนนั้นๆ ดังนั้น วิธีการจัดกิจกรรมการร้องเพลงการร้องเพลงอาจให้เด็กฟังหรือร้องเพลงพร้อมครู โดยไม่จำเป็นต้องจดจำเนื้อร้องให้ได้ก่อน แต่อาจให้เด็กพูดเป็นคำคล้องจองตามเนื้อเพลงได้
ก่อนสอนเพลงครูควรนำภาพหรือของจริงที่เกี่ยวกับเนื้อหาของเพลงมาให้เด็กดู ครูร้องเพลงให้เด็กฟังก่อน 1 - 2 เที่ยวแล้วจึงให้เด็กว่าเนื้อเพลงที่ละวรรคตาม จากนั้นก็ให้เด็กร้องเพลงพร้อมครู และร้องเพลงพร้อมกัน การสอนเพลงให้กับเด็กนั้นมิได้มุ่งแต่จะร้องเพลงได้เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการเคาะจังหวะหรือแสดงท่าทางประกอบด้วย

เนื้อหาเพลงที่ใช้สอนเด็ก
เพลงที่ใช้สอนเด็กมีเนื้อร้องที่ให้ความรู้ และช่วยในการแสริมสร้างพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา ให้แก่เด็กเพื่อพัฒนาตามวัย
1. ด้านร่างกาย ในการสอนเด็กปฐมวัยต้องใช้ท่าทางประกอบ เนื่องจากเด็กชอบการเคลื่อนไหวไม่ชอบอยู่นิ่ง ในการร้องเพลงจึงควรทำท่าทางประกอบ เด็กจะได้ทำท่าทางตามครู หรือคิดขึ้นเองที่เข้ากับจังหวะและเนื้อเพลง
2. ด้านอารมณ์-จิตใจ ขณะที่เด็กร้องเพลงหรือทำท่าทางประกอบเพลงนั้น เด็กจะแสดงอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส สนุกสนาน เพลิดเพลิน ดวงตาเป็นประกายอย่างมีความสุข เพลงจะช่วยให้เด็กคลายความเครียด มีอารมณ์สดชื่น
3. ด้านสังคม เมื่อเด็กมาโรงเรียนนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตเด็ก เพราะเด็กต้องจากบ้าน จากพ่อจากแม่มาสู่โรงเรียนซึ่งเป็นสังคมใหม่ ประกอบไปด้วยสถานที่ใหม่ เพื่อนใหม่ ครู หรือคนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในโรงเรียน สิ่งที่จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยและเข้ากับผู้อื่นได้ ด้วยการใช้เพลงเป็นสื่อ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้สนิทสนมใกล้ชิดกับเพื่อนและครู
4. ด้านสติปัญญา เพลงช่วยให้เด็กมีความรู้และเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดี ทั้งช่วยให้จำได้เร็วกว่าการบอกเล่า ฝึกให้รู้จักคิดและได้ความรู้เรื่องต่างๆ เช่น
4.1 คณิตศาสตร์ เพลงช่วยให้เด็กมีความเข้าใจและจดจำเกี่ยวกับเรื่องจำนวน หรือความหมายทางคณิตศาสตร์ได้ดี และผู้สอนอาจจะสังเกตว่าเด็กเข้าใจความหมายของเนื้อเพลงได้เพียงใด จากการที่เด็กแสดงท่าทางประกอบเพลง
4.2 วิทยาศาสตร์ เพลงเด็กมีหลากหลายเพลงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบๆ ตัวเด็ก เช่น เกี่ยวกับสัตว์ พืช ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เป็นต้น

การประเมินผล
1. สังเกตความสนใจในการร่วมกิจกรรม
2. สังเกตความกล้าแสดงออกของเด็ก
3. สังเกตการณ์ร้องเพลงและการทำท่าทางประกอบ

การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning)

 
สำหรับเด็กปฐมวัย


            ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ  แรกเกิดถึง 7 ปี  หากมาส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ของผู้ใหญ่  ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม  เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ

            สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ  สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น  สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

            การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.)การทำงานของสมอง  2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา  ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง  ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ


            การทำงานของสมอง

            สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่  สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่  หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท  ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก  ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์

            สมองประกอบด้วย เซลล์สมองจำนวนกว่า 1  แสนล้านเซลล์  ลักษณะของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะมีส่วนที่ยื่นออกไปเป็นเส้นใยสมองแตกแขนงออกมามากมายเป็นพัน ๆ เส้นใยและเชื่อมโยงต่อกับเซลล์สมองอื่น ๆ  เส้นใยสมองเหล่านี้เรียกว่า แอกซอน (Axon)และเดนไดรท์ (Dendrite)จุดเชื่อมต่อระหว่างแอกซอนและเดนไดรท์ เรียกว่า ซีนแนปส์ (Synapses)เส้นใยสมองแอกซอนทำหน้าที่ส่งสัญญาณกระแสประสาทไปยังเซลล์สมองที่อยู่ถัดไป  ซึ่งเซลล์สมองบางตัวอาจมีเส้นใยสมองแอกซอนสั้นเพื่อติดต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ชิดกัน  แต่บางตัวก็มีเส้นใยสมองแอกซอนยาวเพื่อเชื่อมต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ห่างออกไป  ส่วนเส้นใยสมองเดนไดรท์เป็นเส้นใยสมองที่ยื่นออกไป อีกทางหนึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณกระแสประสาทจากเซลล์สมองข้างเคียงเป็นส่วนที่เชื่อมติดต่อกับเซลล์สมองตัวอื่น ๆ เซลล์สมองและเส้นใยสมองเหล่านี้จะมีจุดเชื่อมต่อหรือซีนแนปส์(Synapses)เชื่อมโยงติดต่อถึงกันเปรียบเสมือนกับการเชื่อมโยงติดต่อกันของสายโทรศัพท์ตามเมืองต่าง ๆ นั้นเอง

            จากการทำงานของเซลล์สมองในส่วนต่าง ๆ  ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลรอบตัวและสร้างความรู้ขึ้นมาได้นั้นคือ  เกิดการคิด  กระบวนการคิด  และความคิดขึ้นในสมอง  หลังเกิดความคิดก็มีการคิดค้นและมีผลผลิตเกิดขึ้น  ยิ่งถ้าเด็กมีการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้และการคิดมากเท่าไร  ก็จะทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ ๆ แตกแขนงเชื่อมติดต่อกันมากยิ่งขึ้น  ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยไปเพิ่มขนาดของเซลล์สมองจำนวนเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง  สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กพบว่า  ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา  10 ปีแรก  ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ  การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก

            สมองมีหลายส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันแต่ทำงานประสานกัน  เช่นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ  และรับรู้การเคลื่อนไหว สี รูปร่างเป็นต้น  หลายส่วนทำหน้าที่ประสานกันเพื่อรับรู้เหตุการณ์หนึ่ง  เช่น  การมองเห็นลูกเทนนิสลอยเข้ามา  สมองส่วนที่รับรู้การเคลื่อนไหว สี  และรูปร่าง  สมองจะอยู่ในตำแหน่งแยกห่างจากกันในสมองแต่สมองทำงานร่วมกันเพื่อให้เรามองเห็นภาพได้  จากนั้นสมองหลายส่วนทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้เราเรียนรู้และคิดว่าคืออะไร  เป็นอย่างไร  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สมองสามารถเรียนรู้กับสถานการณ์หลาย ๆ แบบพร้อม ๆ กันโดยการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เช่น สมองสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์เชื่อมโยงกันได้  การทำเช่นนี้ได้เป็นเพราะระบบการทำงานของสมองที่ซับซ้อน  มีหลายชั้นหลายระดับ  และทำงานเชื่อมโยงกันเนื่องจากมีเครือข่ายในสมองเชื่อมโยงเซลล์สมองถึงกันหมด  เครือข่ายเส้นใยสมองเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้ว  ดูเหมือนว่าจะอยู่ไปอีกนานไม่มีสิ้นสุด  ช่วยให้สมองสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ทั้งในส่วนย่อยและส่วนรวม  สามารถคิดค้นหาความหมาย  คิดหาคำตอบให้กับคำถามต่าง ๆ ของการเรียนรู้และพัฒนาความคิดใหม่ ๆ ออกมาได้อีกด้วย

            นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า  ความเครียดขัดขวางการคิดและการเรียนรู้  เด็กที่เกิดความเครียดจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเช่นเด็กที่ได้รับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจทำให้เกิดความหวาดกลัว  เครียด  บรรยากาศการเรียนรู้ไม่มีความสุข  คับข้องใจ  ครูอารมณ์เสีย  ครูอารมณ์ไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวดี  เดี๋ยวร้าย  ครูดุ  ขณะที่เด็กเกิดความเครียด  สารเคมีทั้งร่างกายปล่อยออกมาจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง  ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด  เรียกว่า  คอร์ติโซล (Cortisol)  จะทำลายสมองโดยเฉพาะสมองส่วนคอร์เท็กซ์หรือพื้นผิวสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด  ความฉลาด  กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสหรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ  ซึ่งความเครียดทำให้สมองส่วนนี้เล็กลง  เด็กที่ได้รับความเครียดอยู่ตลอดเวลา  หรือพบความเครียดที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้  ส่งผลต่อการขาดความสามารถในการเรียนรู้  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  เพราะเด็กมีสมองพร้อมที่จะเรียนได้  แต่ถูกทำลายเพราะความเครียดทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ได้หายไปตลอดชีวิต

 

การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก

            การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมองและการทำงานให้ประสานสัมพันธ์ของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา  สมองซีกซ้ายควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์  ในขณะที่สมองซีกขวาเป็นด้านศิลปะ  จินตนาการ  ดนตรี ระยะ/มิติ หากครูสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้ใช้ความคิดโดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกันให้สมองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน  ผู้เรียนจะสามารถสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม เป็นผลงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลผสมผสานในผลงานชิ้นเดียวกัน

            หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆดังนี้  

            1. การเคลื่อนไหวของร่างกาย  ฝึกการยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆที่เราต้องการ  หรือพวกนักกีฬาต่างๆ

            2. ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟัง  การอ่านและการเขียน  เช่น ให้เด็กเล่าสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้ลงมือกระทำ  ฟังเรื่องราวต่างๆที่เด็กต้องการเล่าให้ฟังด้วยความตั้งใจ  เล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน  เล่าจบตั้งคำถามหรือสนทนากับลูกเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน  อ่านคำจากป้ายประกาศต่างๆที่พบเห็น  ให้เด็กได้วาดภาพสิ่งที่เขาได้พบเห็นหรือเขียนคำต่างๆที่เขาได้พบเห็น   

            3. การรู้จักการหาเหตุผล ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน  เรียนรู้ขนาด ปริมาณ  การเพิ่มขึ้นลดลง  การใช้ตัวเลข 

            4. มิติสัมพันธ์และจินตนาการจากการมองเห็น ให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆที่เป็นของจริง  เรียนรู้สิ่งต่างๆจากประสบการณ์ตรง  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ  ขนาดตำแหน่ง  และการมองเห็น  สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างรอบตัว  เข้าใจสิ่งที่มองเห็นได้สัมผัส  สามารถนำสิ่งที่เข้าใจออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

            5. ดนตรีและจังหวะ  ให้เด็กได้ฟังดนตรี แยกแยะเสียงต่างๆ  ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี  ฝึกให้เด็กรู้จักจังหวะดนตรี

            6. การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  ฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เข้าใจผู้อื่น  เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น  ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา

            7. การรู้จักตนเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เข้าใจตนเอง จะทำให้ดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม 

            8. การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ


               กระบวนการจัดการเรียนรู้

            เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ  ลักษณะกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นแบบเปิดกว้าง จัดให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายโดยให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจหรือให้เด็กได้แสดงออกในแนวทางที่เขาสนใจ  เรียนรู้แบบปฏิบัติจริงโดยการใช้ประสาทสัมผัสกระทำกับวัตถุด้วยความอยากรู้อยากเห็น ได้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ  เด็กเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  เด็กได้การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นกลุ่มเล็กๆ  และเป็นรายบุคคล  การให้เด็กได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่นทำให้เด็กได้ตรวจสอบความคิดของตน  แต่เมื่อมีปัญหาเด็กต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่  ควรให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง  มีการเชื่อมโยงหลากหลายสาขาวิชา  บทบาทของครูเป็นผู้ให้คำแนะนำเมื่อเด็กต้องการและให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม


ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

1.      ให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 

     ในการทำกิจกรรม 1 กิจกรรมพยายามให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างร่วมกัน

               การเรียนจากการปฏิบัติจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ

                    

                       ฉันฟัง  ฉันลืม

                        ฉันเห็น  ฉันจำได้

                        ฉันได้ทำ  ฉันเข้าใจ


            2.  ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่เขาคิด และได้ลงมือกระทำ  ถ้าไม่ได้พูดสมองไม่พัฒนา  ต้องฝึกให้ใช้สมองมากๆอย่างมีความสุข  ไม่ให้เครียด

          3.  ผู้ใหญ่ต้องรับฟังในสิ่งที่เขาพูดด้วยความตั้งใจ  และพยายามเข้าใจเขา



สารอาหารบำรุงสมอง

           อาหาร 5 หมู่มีส่วนบำรุงสมองทั้งสิ้น โดยเฉพาะทารกในครรภ์  อาหารจะเข้าไปช่วยสร้างเซลล์สมอง  เมื่อคลอดออกมาแม่ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่เช่นเดิม  เมื่อลูกโตขึ้นปริมาณของน้ำนมของแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องให้อาหารเสริม  ถ้าขาดสารอาหารเซลล์สมองจะเติบโตช้าและมีจำนวนน้อยลง  เส้นใยประสาทมีการสร้างไม่ต่อเนื่อง

           ตับและไข่  เด็กปฐมวัยต้องการธาตุเหล็กจากตับหรือไข่ ถ้าเด็กไม่กินตับหรือไข่  และหรือกินในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความจำและสมาธิด้อยลง

           ปลา  สารจากเนื้อปลาและน้ำมันปลามีส่วยสำคัญต่อการพัฒนาความจำและการเรียนรู้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่า เดนไดร์  ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง อธิบายได้ว่าทำให้เด็กเข้าเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายและเร็ว

ควรให้เด็กรับประทานเนื้อปลาทุกวันหรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเนื้อปลาทะเลเช่น ปลาทู  ปลากระพง และปลาตาเดียว เป็นต้น

           ผักและผลไม้  ผักที่มีสีเขียว  เหลืองหรือแดง  อาหารเหล่านี้ให้วิตามินซี เพื่อนำไปสร้างเซลล์เยื่อบุต่างๆทั่วทั้งร่างกายและวิตามินเอทำให้เซลล์ประสาทตาทำงานได้เต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการพัฒนาสมอง

           วิตามินและเกลือแร่ ช่วยในการทำงานของเชลล์ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทำให้เชลล์สมองมีการทำงานลดลงและเชื่องช้าจะกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก

           ปลา ไก่ หมู นมและอาหารทะเล อาหารเหล่านี้มีแร่ธาตุต่างๆเช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซี่ยม  สังกะสี  ฟอสฟอรัสและไอโอดีน  มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง

           ผักตระกูลกะหล่ำ(ทำให้สุก) ข้าวสาลี และน้ำนมแม่ สามารถไปยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์สมองได้

           การพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็ก ขึ้นกับ อาหาร  พันธุกรรม  สิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีโอกาสได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ  ให้เด็กมีโอกาสคิดในหลากหลายแบบเช่น คิดแสวงหาความรู้  คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  คิดกว้าง คิดไกล  คิดเชิงอนาคต  คิดนอกกรอบ  ผู้ปกครองหรือครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขในขณะที่ฝึก  สมองจึงจะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ  


               เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเหตุผล

               ลูกไม่รู้ว่าแม่เหนื่อย   ลูกไม่เข้าใจ  ลูกก็ซน ช่างซักช่างถาม อย่ารำคาญ อย่าโกรธลูกเลย 

               รักลูกก็ให้กอดลูกแล้วบอกว่าแม่รักพ่อรัก  แสดงความรักออกมาอย่างจริงใจ  แสดงความใส่ใจต่อลูก  นี้คือยาวิเศษที่ลูกต้องการ

            คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนอารมณ์ดี

การดูแลเด็กสมาธิสั้น


เด็กสมาธิสั้นมักจะมีปัญหาในกระบวนการของการทำกิจกรรมต่างๆให้สำเร็จ ทั้งการคิด และการวางแผน การจัดการ การควบคุม การทำตาม และการทำให้งานนั้นๆเสร็จสิ้น ซึ่งหมายความว่าผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่คอยจัดหรือแนะวิธีการคิดต่างๆ ในขณะที่เด็กสมาธิสั้นเหล่านั้นจะค่อยๆเรียนรู้และมีทักษะในการทำกระบวนการต่างๆมากขึ้นด้วยตัวเอง
สิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ให้สำเร็จ คือ การคิดในแง่บวก มีทัศนคติที่ดี โดยที่สามัญสำนึกจะเป็นตัวช่วยในการชี้บอกเราว่าพฤติกรรมใดที่ควรแก้ปัญหามากที่สุด เมื่อใดที่ควรจะใช้การต่อรองการวางเงื่อนไขหรือต้องใช้ความหนักแน่น หรือการป้องกันก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น และสามัญสำนึกนี้จะชี้ให้เราเห็นถึงจุดเล็กๆที่เด็กทำได้สำเร็จและน่าชื่นชม ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นดีขึ้นในอนาคต
เคล็ดลับในการดูแลเด็กสมาธิสั้น
สื่อสาร ใช้คำพูดที่ชัดเจน ได้ใจความ เมื่อต้องการสื่อสารกับเด็กสมาธิสั้น ในส่วนของการอธิบายวิธีการต่างๆควรอธิบายครั้งละ 1 ขั้นตอน และให้เด็กทำกิจกรรมแค่ครั้งละ 1 อย่าง
มั่นคง สิ่งที่เราคาดหวังจากเด็สมาธิสั้นในแต่ละวัน ควรเป็นเหมือนกับที่เราต้องการทุกๆวัน อย่ายอมแพ้เพียงแค่เราเหนื่อยและเบื่อหรือเด็กอารมณ์เสีย
เป็นตัวอย่างที่ดี แสดงให้เด็กเห็นถึงพฤติกรรมที่เราอยากให้เด็กเป็น เป็นทั้งตัวอย่างในเรื่องความอดทน นิสัยต่างๆและมารยาทที่ดี พยายามเป็นให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่เราอยากได้จากเด็ก
พยายามรับรู้และหลีกเลี่ยงก่อนที่จะเกิดปัญหา นึกถึงลักษณะนิสัยของเด็กและสถานการณ์ต่างๆที่อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ พยายามคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น
ชื่นชมพฤติกรรมที่ดี การให้คำชื่นชมเป็นแรงประตุ้นที่ดี ดังนั้น เราจึงควรพยายามที่จะชมพฤติกรรมที่ดีที่เด็กทำ
ใช้การต่อรองและคุยกับเด็ก ควรใช้วิธีการคุยและช่วยกันแก้ปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์หรือปัญหาต่างๆ ไม่ควรใช้การต่อว่าเพียงอย่างเดียว
เลือกปัญหาให้ถูก เราไม่ควรนำทุกๆปัญหามาคิด ควรมองในภาพรวมมากกว่าที่จะมานั่งคิดแก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆ เพราะมันจะทำให้เกิดความตึงเครียดภายในครอบครัวมากขึ้น


ผู้ติดตาม