วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เปิดประเด็น..พัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับศิลปะเด็ก


     
          เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา...
           ที่ศูนย์ศิลปะบ้านกลางทุ่ง
           และบ้านกลางทุ่ง ออร์กานิกโฮมมีโอกาส
           ร่วมโครงการศิลปะและธรรมชาติ
           ของโรงเรียนเขาดินวิทยาคาร กาญจนบุรี
           ที่เรารีบรับปากร่วมจัดกิจกรรมกับทางโรงเรียน
           น่าจะเป็นเพราะเจตนารมณ์เดียวกัน
           เราจัดกิจกรรมศิลปะให้เด็กๆทุกปิดเทอม
           แต่คราวนี้ที่ตื่นเต้นเห็นจะเพราะเป็นเด็กปฐมวัย



 ความจริงในเรื่องของศิลปะเด็ก...
"จิตใจของเด็กย่อมสะท้อนออกมาจากงานศิปะของเขา"
 ศิลปะมาจากการทำงานของสมอง..
"รูปที่เด็กวาดนั้นมิใช่เพียงเส้นสายที่ยุ่งเหยิง
 หรือสีสันอันเลอะเทอะ
 หากแต่เป็นจินตนาการจากโลกแห่งจิตใจของเขาเอง "
 "งานศิลปะเป็นการระบายความกดดัน
  ความอัดอั้นตันใจของเด็กออกมา
  แทนที่จะเก็บเอาไว้หรือเก็บกด
  จนวันหนึ่งเกิดระเบิดออดมา" 


                                     
เราเริ่มให้เด็กเรียนศิลปะจากธรรมชาติ
ไปเที่ยวสวนป้าเตียว..ไหว้พระที่วัดอินทาราม
แล้วเด็กๆก็ได้ตะโกนร้องเพลง
แข่งกับสายลมที่กลางทุ่งนา


                

      อ่านประโยชน์ของศิลปะเด็กเช่น
      ศิลปะช่วยระบายความกดดัน
      ศิลปะพัฒนาวงจรสมอง
      ศิลปะช่วยคลายเครียด
      งานศิลปะสะท้อนตัวเด็ก
      เด็กใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารความคิด
      งานศิลปะของเด็กเป็นสิ่งอันอัศจรรย์
      อยากให้เด็กมีโอกาสกันมากๆ
      แต่เส้นหนักหรือเบา สีเข้มหรือสีอ่อน
      ไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องวิจารณ์
      ควรมุ่งไปที่จิตใจ จิตวิญญาณเด็กเป็นสำคัญ


เมื่อเด็กทำการปั้น
วงจรทุกวงจรในสมองจะเชื่อมโยงกัน
สมองส่วนคิดจะทำงาน จะจินตนาการว่าปั้นอะไร
และแน่นอนคือ ทำไมเขาเลือกสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้
กระบวนการนี้ทำไห้เด็กเกิดปัญญาและความคิดสร้างสรรค์
เห็นมั้ยละ..ว่ามันไม่สำคัญที่ความสวยงาม


ในขณะที่เด็กปั้น..
เด็กจะใช้นิ้วมือและตาสัมพันธ์กัน
สมองส่วนที่เกี่ยวข้องคือ ส่วนรับภาพ
ส่วนรับสัมผัส และส่วนความเคลื่อนไหว
ถ้าคุณได้เห็นตอนที่เด็กๆสร้างสรรค์งานศิลปะ
คุณจะมีความสุข..ขณะที่เด็กเขาสุขยิ่งกว่า
ขอบคุณครูป้าเต่า..ครูประจำชั้น และผู้บริหาร
ที่เปิดโอกาสให้เด็กมีวันนี้..
และนี่อาจเป็นการเปิดประเด็น
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ที่สำคัญประเด็นหนึ่ง



ขอขอบคุณที่มาทางวิชาการ :
การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร Brain-base Learningด้านศิลปะและการสร้างสรรค์   สถาบันส่งเสริมอัจริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้(สสอน.)

ผลงานศิลปะเด็ก

กระตุ้นลูกคิดด้วย 5 กิจกรรม



การคิด เป็นพลังสร้างสรรค์เรื่องดีทั้งต่อตัวเด็กและผู้อื่น แต่ก่อนที่ลูกๆ จะเข้าใจเรื่องนี้มีทักษะความคิดดีๆ เกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยแบบอย่างการสะสมประสบการณ์จากคุณพ่อคุณแม่ ลองมาดูวิธีการจากกิจกรรมต่อไปนี้ เพื่อเป็นแนวทาง นำไปปรับใช้ชวนลูกๆ คิดกันค่ะ
1. ชวนคุย
ทุกๆ เรื่องที่ลูกพูดคุยเป็นประจำกับคุณนั่นแหละค่ะ แม้ว่าเรื่องที่ลูกคิดสิ่งที่พ่อแม่ได้ยินได้ฟัง ดูเหนือธรรมชาติ ต่างจากความจริง แต่หากคิดตามฟังเสียงลูกจะเข้าใจว่า ลูกมีความคิดอย่างไร สนใจสิ่งใด และโลกจินตนาการของลูกที่แฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์สามารถนำมาต่อยอดชวนลูกคิดได้
How to
สังเกตว่าลูกใส่ใจกับอะไร สิ่งใด เพื่อคอยช่วยสนับสนุนหรือให้ลูกได้เรียนรู้ สัมผัสจากของจริง เช่น ลูกชอบการปั้น การสร้างหุ่นยนต์ ก็อาจพาลูกไปดูการแข่งขันหุ่นยนต์
2. ชวนอ่านหนังสือ
วิธีที่ง่ายที่สุด คือการหยิบนิทาน หนังสือสักเล่มที่ลูกชอบ อ่านให้ลูกแล้วตั้งคำถามให้ลูกสนใจ ได้คิดในขณะที่พ่อแม่เป็นฝ่ายสนับสนุนโลกจินตนาการ ตอบในสิ่งที่ลูกถาม สร้างความคิดในมุมบวกให้ได้มากที่สุดจะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้คิด รู้จักแสดงความคิดเห็น
How to
หมั่นตั้งคำถาม เปิดโอกาสดีๆ ให้ลูกแสดงความคิดของตัวเองขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่สอดแทรกความคิดเห็น อธิบายในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ลูกก็จะได้เรียนรู้ รู้จักรับฟังเหตุผลผู้อื่นด้วย
3. ชวนสนุกกับงานบ้าน
ชวนลูกเก็บกวาด เช็ดถู ทำความสะอาดบ้านห้องนอน ของเล่น กิจกรรมง่ายๆ ในบ้านที่แสนง่าย และมีประโยชน์ เมื่อลูกทำได้แล้ว จากนั้นค่อยๆ เพิ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสามารถและวัยของลูกเป็นที่ตั้ง
How to
พยายามให้ลูกคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำสิ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เมื่อลูกทำได้ก็ควรชื่นชมและชมเชย ให้ลูกรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำได้
4. ตั้งโจทย์ ทดสอบไอคิว/อีคิว
ลองตั้งโจทย์ง่ายๆ ตรวจดูความคิดกับลูกด้วยสถานการณ์บางเรื่อง เช่น ถูกรังแก ถูกเพื่อนแย่งของเล่น เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่า ลูกจัดการกับปัญหาอย่างไรค่ะ
How to
ควรให้ลูกรู้ด้วยว่า อุปสรรค ปัญหา ความผิดหวังเป็นเรื่องที่เราทุกคนพบเจอได้ แต่สิ่งสำคัญคือการยอมรับกับความจริง สิ่งที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะจัดการแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมได้อย่างไร
5. ชวนดูข่าว สารคดีดีๆ
นำมาเป็นประเด็นพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือสิ่งที่ลูกคิด เช่น ข่าวการลักขโมย การทำร้าย… เป็นต้น จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็อาจสอดแทรกทัศนคติที่ดีหรือวิธีคิดที่เป็นบวก เมื่อฝึกบ่อยๆ วิธีคิดเหล่านี้จะส่งถึงตัวลูก
How to
สอนให้ลูกรู้และเข้าใจว่า ในประเด็นเรื่องเดียวกันความคิดของแต่ละคนอาจรู้สึกและคิดได้หลากหลายมุมมอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การคิดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ความเป็นเหตุเป็นผลค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother & Care ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552

สุขภาพเด็กไทยไม่ใช่เรื่องเล็ก

น้องนัท เป็นเด็กชายวัย 10 ปี ผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ และอ้วนท้วม มีน้ำหนักเกือบ 50 กิโลกรัม หากมองจากด้านหลัง คนจะคิดว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ พ่อหนูคนนี้ไม่ค่อยมีความสุขนัก เพราะถูกเพื่อนล้อว่าเป็นยักษ์เสมอ จริงอยู่เขาอาจจะมีแรงเยอะ จนไม่มีใครกล้ารังแก แต่ความที่เคลื่อนไหวช้า คิดช้า กินเยอะชอบหลับในเวลาเรียน และเหนื่อยง่าย หายใจขัดเสมอทำให้เขากลายเป็นคนพิเศษที่เพื่อนๆ มักมองข้าม เมื่อต้องรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมหลายอย่างในชั้น
ย้อนกลับไปดูชีวิตประจำวันของนัท เขาต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อให้พ่อแม่พาไปโรงเรียนชื่อดังในย่านธุรกิจกลางใจเมือง เขากินอาหารเช้าในรถ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำพวกข้าวกับเนื้อสัตว์ทอด นมปรุงแต่งกลิ่นและรสอีกหนึ่งกล่องใหญ่ บางครั้งก็มีขนมขบเคี้ยวตบท้าย
ระหว่างวันอาจไม่ได้กินอะไรมากนัก แต่เขาก็ต้องคร่ำเคร่งกับหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการ ปลูกฝังเด็กๆ ด้วยระบบการแข่งขันอย่างหนักหน่วง เพราะพ่อแม่ค่อนข้างคาดหวังในตัวของเขาสูงมาก
ตกเย็นเมื่อพ่อแม่มารับ น้องนัทก็ได้กินน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ แฮมเบอร์เกอร์ และมันฝรั่งทอด ซึ่งพ่อแม่มักซื้อมาให้เป็นอาหารมื้อบ่ายไม่อั้น ก่อนจะได้กินหมู เป็ด ไก่สารพัดเมนูในภัตตราคารหรูเป็นอาหารมื้อค่ำ
ในวันหยุด น้องนัทก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอโทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ อันเป็นกิจกรรมบันเทิงราคาแพงซึ่งเพื่อนๆ ในโรงเรียนของเขานิยมกันมาก
หลายคนที่รู้จักน้องนัทบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นเด็กที่มีความเครียดสูงกว่าเด็กทั่วไป ไม่ค่อยร่าเริงเหมือนเด็กอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกันแพทย์ประจำตัวน้องนัทอาจ ไม่ได้เน้นเรื่องนี้เท่าไรนัก ทุกครั้งที่แม่พาไปหาหมอเกือบทุกเดือนนั้น แพทย์บอกเพียงว่าเขาเป็นภูมิแพ้ และให้ยามากินหลายขนาน เรียกได้ว่านอกจากอาหารมากมายที่กินในแต่ละวันแล้ว เขายังต้องกินยาอีกมากมายควบคู่ไปด้วย
จากเรื่องของน้องนัท ช่วยให้พอมองเห็นปัญหาสุขภาพบางอย่างของเด็กไทย ซึ่งเราทุกคนจะต้องร่วมมือแก้ไข ก่อนที่เจ้าตัวน้อยที่เรารักและหวงแหนจะเจ็บป่วยด้วยหลายโรค
สุขภาพเด็กไทย
แพทย์หญิงนิชรา เรืองดารกานนท์แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยให้ทราบว่าปัญหาเรื่องสุขภาพเด็กคงมีอยู่เหมือนเดิม ปัญหาเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาเด็กขาดสารอาหารก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในเขตนอกเมือง
ความอ้วนของเด็กมักมาจากการบริโภคอาหาร สมัยใหม่หรือที่เรียกกันติดปากว่าอาหารจานด่วน เป็นเพราะได้รับสารอาหารไม่เหมาะสม ได้บางอย่างเกินและขาดบางอย่างไป
พ่อแม่บางคนเข้าใจว่าลูกกินนมเยอะจะดี การกินนมเยอะเกินไปจะทำให้ได้อาหารไม่ครบถ้วน เพียงพอ ยิ่งในวัยที่เกินหนึ่งขวบไปแล้ว นมควรเป็นแค่อาหารเสริมเท่านั้น ไม่ใช่อาหารหลัก เพื่อให้ได้แคลเซียมบ้าง แต่ถ้ากินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมสูงมากอยู่แล้ว ก็ลดปริมาณนมได้อีก

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารจานด่วนก็หนีไม่พ้นเรื่องไขมัน หรือไตรกลีเซอร์ไรด์ อาจเป็นผลระยะยาว ซึ่งไม่แสดงอาการทันที แต่มันจะสะสมสูงต่อเนื่อง จนกลายเป็นเส้นเลือดอุดดัน ความดันสูงก่อนวัยที่ควรจะเป็น

เด็กอ้วนจะมีผลต่อการนอนด้วย เพราะความอ้วนจะส่งผลต่อระบบการหายใจ เหมือนภาวะอุดตันชั่วขณะ ยิ่งถ้ามีต่อมทอนซิน หรือต่อมอะดีนอยด์โตอยู่แล้ว พออ้วนก็ยิ่งทำให้หายใจลำบากขึ้น กลางคืนจึงนอนกรน กระสับกระส่าย ผุดลุกผุดนั่ง นอนหลับไม่สนิท ก็ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ปัญหาเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ปัญหาเรื่องสารพิษ การปนเปื้อนพวกสารตะกั่ว สารหนูต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาการ และสติปัญญาอย่างถาวร ถึงการรักษาเบื้องต้นจะทำให้หายได้ แต่ก็มีผลต่อเนื่องระยะยาว
การที่เด็กต้องตื่นแต่เช้ามาก ทำให้เวลานอนไม่พอเพียง ซึ่งอาจทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เพราะฮอร์โมนที่ทำให้เด็กโตจะหลั่งตอนที่หลับสนิทและนอนนานเพียงพอ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเครียด เพราะชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขัน ผู้ใหญ่เครียด ก็ส่งผลให้เด็กเครียดเช่นกัน ซึ่งความเครียดส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้และจิตใจของเด็ก ก่อให้เกิดความผิดปกติหลายอย่าง เช่น สมาธิสั้น ก้าวร้าว ซึมเศร้า แม้แต่โรคภูมิแพ้ เพราะเมื่อเครียด ภูมิต้นทานก็ลดลง เป็นหวัดบ่อย เป็นต้น
“การที่พ่อแม่ทำงานหนัก ชีวิตแข่งขัน มีความเครียดสูง ทำให้มีเวลาลดลง เด็กจึงมีโอกาสออกกำลังกายน้อยลง ทั้งพ่อแม่และลูกก็ไม่มีเวลาเหมือนกัน เพราะไปด้วยกัน เด็กจึงไม่มีโอกาสได้ออกแรงตามวัยที่ควรจะเป็น วิ่งเล่น เพื่อลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ชีวิตและสังคมทางหนึ่ง เมื่อไม่ได้ออกกำลังกาย และเอาแต่เล่นวีดีโอเกม เกมคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ปัญหาก็โยงกลับไปสู่ความอ้วนอีกนั่นละ”
เรื่องของมะเร็งในเด็ก คุณหมอนิชราบอกว่าโอกาสที่เด็กจะเป็นมะเร็งมีมากขึ้น ในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะมลภาวะต่างๆ และสารพิษส่วนใหญ่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น ควันบุหรี่ ขณะเดียวกันโรคติดเชื้ออื่น ๆเช่นท้องร่วง ปอดบวมลดลง เพราะมีการให้วัคซีนทั่วถึง
โรคทางจิตในเด็กพบว่าเพิ่มขึ้น  แค่เราเห็นตามข่าวก็รู้ว่ามากขึ้น เช่นฆ่าตัวตาย ฆ่ากันตาย  ทั้งภาวะซึมเศร้า มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายสูง
ปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรมหลายอย่าง อาจไม่เหมือนผู้ใหญ่และเด็กโต เช่น เด็กไม่จำเป็นต้องนั่งร้องไห้ หรือไม่กินข้าวกินปลา นอนไม่หลับ จึงจะแปลว่าเป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งความซึมเศร้าอาจเบี่ยงเบนเป็นความซนมาก อยู่ไม่นิ่ง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว เพราะเขาหงุดหงิดอยู่ภายใน
นอกจากนี้โรคออทิสติก ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของเซลล์สมองในทางการแพทย์ก็มีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางระบาดวิทยาว่าเยอะขึ้น
ปกป้องหนูอย่างเอาใจใส่
การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย คงเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนตัวเล็กอย่างเรา แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาสุขภาพของเด็ก ก็สามารถแก้ไขง่ายๆ ด้วยความรักความเอาใจใส่ ตระหนักถึงธรรมชาติและความต้องการของเจ้าตัวน้อยใกล้ๆ ตัวคุณเอง
เริ่มต้นด้วยการให้เวลากับเขามากขึ้น ทำกิจกรรมด้วยกัน เรียนรู้ลักษณะเฉพาะของเขา ขณะเดียวกันก็สังเกตความเปลี่ยนแปลงของเขา ว่ามีพฤติกรรมบางอย่างไม่ชอบมาพากลหรือไม่ จากนั้นก็ปรึกษาหารือกันในระหว่างผู้ใหญ่ในบ้าน และหาวิธีช่วยเหลือเขา
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในครอบครัว เพื่อลดปัญหาบางอย่างของเด็กก็มีส่วนช่วยได้มาก เช่น หยุดส่งเสริมวัฒนธรรมการแข่งขันในสังคม แต่ให้หันมาปรองดอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แทน เพราะอย่าลืมว่า เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ถ้าแม่แบบในครอบครัวเป็นอย่างไร เด็กก็จะเป็นเช่นนั้น
…และบัญญัติห้าประการอันได้แก่ ใช้ชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ อยู่อย่างเรียบง่ายและรู้จักความพอดี มีความเห็นอกเห็นใจ รักกันอย่างพี่อย่างน้อง ดูแลสุขภาพกายใจให้เป็นเลิศ และข้อสุดท้ายคือ พยายามสร้างสังคมที่ยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
เชื่อเถอะว่า ถ้าคุณทำได้ เด็กๆ ก็จะทำตาม นอกจากสุขภาพของเจ้าตัวน้อยและตัวคุณเองจะดีขึ้นแล้ว สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวอาจจะดีขึ้นด้วย
ส่วนด้านสุขภาพก็ควรชักจูงเด็กๆ ให้ผละจากโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ด้วยกิจกรรมกลางแจ้ง หรือการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ก็ควรโน้มน้าวให้เจ้าตัวน้อยละเลิกอาหารฟาสต์ฟู้ด และหันมาสนใจอาหารธรรมชาติบ้าง

บำรุงสมองเด็กด้วยอาหารชีวจิต
จริงอยู่ที่ร่างกายของเด็กกำลังเจริญเติบโต ต้องการสารอาหารบำรุงร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ แต่พืชผักหลายชนิดก็ให้ทำหน้าที่นี้ได้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหงแนะนำอาหารบำรุงสมองและระบบประสาทสำหรับเจ้าตัวน้อยดังนี้ค่ะ
 Folic Acid มีอยู่ในผักใบเขียวจัดทุกชนิด เช่น แครอท ตับ ไข่แดง แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ถั่วแดง-ดำ-เหลือง
ข้าวซ้อมมือ และข้าวสาลีไม่ขัดขาว
 Niacin ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ปลา ไข่ ถั่วลิสงคั่ว อะโวคาโด อินทผลัม มะเดื่อ ไก่ (เนื้อขาว)
 Zinc จมูกข้าว เมล็ดฟักทอง บริเวอร์ยีสต์ ไข่ นม มัสตาร์ดผง
 Potassium ส้ม ส้มโอ แคนตาลูป มะเขือเทศ แห้ว ผักใบเขียว สะระแหน่ เมล็ดทานตะวัน กล้วยน้ำว้า มันเทศ มันฝรั่ง
 Kelp คือ ต้นไม้ทะเล เกลือแร่ที่ต้องการจาก Kelp คือ ไอโอดีน สาหร่ายทะเลทุกชนิดก็ใช้ได้
 Tryptophan คอตเตจชีส นม เนื้อสัตว์ ปลา กล้วย อินทผลัม ถั่วลิสง
 Phenylalanine ถั่วเหลืองและผลิตผลจากถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ หอย กุ้ง คอตเตจชีส นม ถั่วอัลมอนด์ ถั่วลิสง งา เมล็ดฟักทอง
 B1 ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ข้าวสาลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ตับ แคนตาลูป กะหล่ำปลี โมนาส นม ไข่ เนื้อ
 B6 ข้าวซ้อมมือ ข้าวสำลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ตับ แคนตาลูป กะหล่ำปลี โมนาส นม ไข่ เนื้อ
 B12 ตับ เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนย
 DNA/RNA จมูกข้าว รำข้าว ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด ทุกชนิด ปลา ตับไก่ ข้าวโอต หัวหอม
 อาหารบางอย่างมีทั้งตัวยา วิตามินแร่ธาตุครบ เช่น ข้าวซ้อมมือ
แม้เด็กจะตัวเล็ก แต่ปัญหาสุขภาพของเขาไม่เล็กสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่แน่นอน ฉะนั้น เราต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลลูกหลานของเราก่อนจะสายเกินไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
การดูแลสุขภาพเด็กจะต้องเอาใจใส่เป็นอย่างมาก
ผู้ปกครองควรให้ความสนใจลูกน้อยให้มากๆ

ผู้ติดตาม