วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ต่อเด็กช่วงอายุ 3-12ปี

                โทรทัศน์เป็นสื่อที่คนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะมองไปทางไหน บ้านทุกหลังก็จะต้องมีโทรทัศน์ไว้สำหรับรับข่าวสารข้อมูล กล่าวได้ว่า โทรทัศน์มีความจำเป็นสำหรับชุมชนเมือง โทรทัศน์ถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อทุกคนเป็นอย่างมาก ถือเป็นสื่อระดับต้นๆที่คนบริโภคในแต่ละวัน เพราะมีทั้งภาพและเสียง สามารถดึงดูดความสนใจของคนได้ โดยเฉพาะในวัยเด็ก ที่สามารถรับรู้โดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการตีความ ในแต่ละช่วงวัยของเด็กจะต้องมีการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องกัน ดังนี้
ลักษณะของวัยเด็กตอนต้น ( อายุ 3-6 ปี ) : วัยแห่งการสำรวจ เด็กจะมีสมรรถภาพในด้านการคิด สติปัญญา รวมถึงภาษา วัยเด็กตอนต้นอยู่ในขั้นที่ 2 ของพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียร์เจต์ ซึ่งจะเรียกว่าขั้นก่อนปฏิบัติการ(Preoperational stage) เด็กมีการพัฒนาจากการกระทำที่ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวจากวัยทารกมาเป็นการใช้สัญลักษณ์ เด็กจะเข้าใจและเรียนรู้การใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งต่าง ๆ ได้ จึงเรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างภาพแทนสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาในใจได้ นั่นคือ เด็กเริ่มมีการคิดจินตนาการได้ แต่อย่างไรก็ตาม การคิดการเข้าใจของเด็กวัยนี้ก็ยังมีลักษณะที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ในหลากหลายมิติไปพร้อม ๆ กัน ทำให้การคิดมีลักษณะที่ยังไม่สมบูรณ์ตามความเป็นเหตุและผลที่ถูกต้องได้ เด็กจะสามารถเล่นแบบสมมุติ ( make believe play) แสดงให้เห็นถึงว่าเด็กสามารถเลือกวัตถุและจินตนาการถึงตัวแทนที่ตนเองต้องการได้ การคิดของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน  เริ่มเรียนรู้การพูดและพัฒนาภาษา รวมถึงการเรียนรู้ที่จะสร้างการแสดงออกทางด้านอารมณ์ของตนเองกับพ่อแม่หรือคนอื่นๆ
ลักษณะของวัยเด็กตอนปลาย ( อายุ 6-12 ปี ) : วัยเข้ากลุ่มเพื่อน เด็กจะมีการพัฒนาด้านสติปัญญาอยู่ในขั้นปฏิบัติการคิดรูปธรรม (Concrete operational stage) ของพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียร์เจต์ ซึ่งเด็กสามารถใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ได้ เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมเพราะต้องการเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน  และการพัฒนาความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จริยธรรมและค่านิยม
สถานการณ์ผลกระทบในเด็กไทย จากงานวิจัยของเอแบคโพลล์ในปี 2546 เรื่อง ผลกระทบสื่อโทรทัศน์ต่อเด็ก พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง สังเกตว่ารายการโทรทัศน์มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กในระดับปานกลางค่อนไปทางมาก ตั้งแต่การซื้อสินค้าตามโฆษณา การเลียนแบบท่าทางในการ์ตูน การเลียนแบบทั้งการแต่งตัว คำพูดก้าวร้าว ใช้คำด่า ด้านความรุนแรง ชกต่อย ตบตี  นอกจากนี้ พ่อแม่ยังกังวลเรื่อง เซ็กส์ล้นจอ ซึ่งมาจากหนังต่างประเทศ ละครก่อนข่าว/หลังข่าว การ์ตูนญี่ปุ่น/ฝรั่ง มิวสิควีดีโอ และการแต่งตัวของพิธีกรตามลำดับ ซึ่งพฤติกรรมทางเพศที่มักพบในโทรทัศน์ที่จะส่งผลต่อเด็ก ได้แก่ การแต่งตัววาบหวิว ค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การแสดงออกทางเพศในที่สาธารณะ
การที่เด็กซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่สมองกำลังมีพัฒนาการทางด้านภาษาสูงสุด  คือในช่วงวัยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป   เป็นช่วงที่เด็กจะเริ่มหัดฟังและเรียนรู้ที่จะพูด   เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้  และต้องการการตอบรับจากคนรอบข้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านภาษา  แต่การที่ให้เด็กนั่งดูโทรทัศน์ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) อาจยิ่งส่งผลให้เด็กที่พัฒนาการทางด้านภาษาช้าเนื่องจากไม่ได้มีความจำเป็นที่จะโต้ตอบทางภาษา เด็กวัยนี้ยังต้องเรียนรู้ผ่านการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) ขณะดูโทรทัศน์ผู้ปกครองควรพยายามชี้ชวนพูดจาซักถามเด็ก เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางภาษา  นอกจากนั้นโทรทัศน์ นำเสนอเพลงที่มีการใช้ภาษารุนแรง และภาษาวัยรุ่น ทำให้เกิดค่านิยมการใช้ภาษาผิดๆได้
การโฆษณาขนมขบเคี้ยวที่ล่อตาล่อใจเด็ก ทำให้เด็กติดขนมถุง และอาจส่งผลต่อภาวะโภชนาการทั้งโรคอ้วนเพราะได้รับปริมาณไขมันเกิน หรือเด็กอาจเกิดภาวะขาดสารอาหาร เพราะทานขนมจนอิ่ม และทานอาหารหลักได้น้อย ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบหมู่
ในด้านพัฒนาการทางด้านการรับรู้และการรู้คิดของเด็ก เด็กที่ดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ เด็กจะเกิดเรียนรู้ ซึมซับ เลียนแบบตามพฤติกรรมที่ไม่ดีและสร้างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ละครไทย เด็กดูละครที่ตัวร้ายมีพฤติกรรมที่ส่อถึงความรุนแรง ผิดศีลธรรมและได้รับผลดีในตอนแรกๆ เด็กจะเข้าใจว่าสิ่งที่ผิดๆนั้น ทำแล้วได้ผลดี เด็กก็อาจเกิดพฤติกรรมเลียบแบบได้เลย โดยที่เด็กอาจไม่ได้สนใจว่าในตอนจบพฤติกรรมที่ผิดๆจะส่งผลเสียอย่างไร เพราะเด็กจะรับรู้แค่สิ่งที่ตนเองเห็นเท่านั้น
การนำเสนอข่าวทางลบซ้ำๆมากจนเกินไป ทำให้เด็กเรียนรู้และเลียนแบบสิ่งไม่ดี กรณีที่เด็กมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ถูกเพิกเฉยละเลยจากผู้ปกครอง เด็กจะรู้สึกอยากเรียกร้องความสนใจ อยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนหรือคนอื่นๆ จึงหันมาทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและถ้าได้รับการตอบสนอง เช่น มีการนำเสนอข่าวที่เป็นกระแส การได้รับการยอมรับ การยกย่องจากกลุ่มเพื่อน  เด็กจะรู้สึกเหมือนการได้รับรางวัล ได้ถูกตอบสนองความต้องการของตน สามารถทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำๆ ขึ้นอีกได้ เด็กในช่วงวัย10ปีขึ้นไปการตัดสินถูกผิดของการกระทำจะอยู่ที่ผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับ หากกระทำสิ่งใดแล้วได้รับรางวัลหรือได้รับสิ่งที่น่าพึงพอใจ เด็กก็จะตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ถูกหรือควรทำ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของสังคม (พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก; Instrumental Relativist Orientation)
ตามทฤษฎีของแบนดูรากล่าวว่าการเรียนรู้ของคนไม่จำเป็นต้องดูในแง่ของการแสดงออกเท่านั้น เพียงแค่ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้แล้ว และเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมการแสดงออกจึงอาจมีขึ้นได้ เช่น เด็กที่ได้เห็นตัวอย่างการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวจากละครอยู่บ่อย ๆ เด็กอาจไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกให้เห็นทันที แต่เมื่ออยู่ในสภาพการณ์ที่เล่นกับเพื่อน ๆ แล้วไม่พอใจ เด็กก็อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่ตนเคยได้เห็นอยู่บ่อย ๆ นั้นออกมาต่อเพื่อนได้ การเรียนรู้นั้นเกิดได้จากการสังเกตตัวแบบ ซึ่งสื่อโทรทัศน์จัดเป็นตัวแบบสัญลักษณ์ที่ส่งผลต่อการสร้างพฤติกรรมของเด็กได้ (Socail Cognitive Theory; Albert Bandura )
                การเสนอมิวสิกวีดีโอของเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง ส่งผลต่อเด็กที่มีพัฒนาการทางอารมณ์ไม่สมบูรณ์ ทำอะไรโดยขาดความยั้งคิด เช่น เด็กวัยรุ่นที่อกหัก ดูมิวสิกวีดีโอเพลงที่ตัวละคนอกหักแล้วพยายามฆ่าตัวตาย เด็กอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตายตาม        
นอกจากนั้นพ่อแม่ที่ใช้โทรทัศน์เลี้ยงลูก อาจส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้น เนื่องจากภาพในโทรทัศน์เป็นภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจเด็กได้ดี ก่อให้เกิดลักษณะนิสัยที่ไม่อยู่นิ่ง ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆได้ ส่งผลให้เด็กสมาธิหลุดเวลาเรียนหนังสือ มีความลำบากในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิเป็นเวลานาน ขาดความอดทน
จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็ก 60% ดูทีวีโดยไม่มีผู้ใหญ่แนะนำ เด็กจะเปิดรับสื่อได้เต็มที่โดยไม่มีการแยกแยะไตร่ตรอง  เด็กจะไม่สามารถแยกแยะถูกผิดว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ
ดังนั้นเมื่อเราไม่สามารถที่จะควบคุมการผลิตสื่อได้ ก็จะเป็นบทบาทของผู้ปกครองที่จะเลือกสื่อที่สร้างสรรค์และเหมาะสมกับวัยของเด็ก และควรพูดคุย แนะนำบุตรหลานของตนเพื่อแยกแยะความเป็นจริงกับจินตนาการของภาพในโทรทัศน์ เพราะเด็กจะมีความสามารถในการรับรู้ เรียนรู้ และเลียนแบบสิ่งรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว เด็กมักจดจำและทำตามทันที โดยแสดงออกมาในคำพูดและการกระทำอย่างชัดเจน เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีการแสดงออกอย่างเปิดเผย เพราะฉะนั้นความเหมาะสมของการได้รับเนื้อหาสาระจากสื่อโทรทัศน์สามารถช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี

เด็กอายุ 3-5ปี

พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กวัยนี้เป็นไปอย่าง รวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องความสูงและน้ำหนัก การเพิ่มของ น้ำหนักเกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ ในตอนต้นของวัยนี้ สัดส่วนของร่างกายเปลี่ยนแปลงใกล้เคียงกับผู้ใหญ่มากขึ้น ทำให้สามารถกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวดีขึ้น เด็กจึงชอบวิ่ง กระโดด ไม่หยุดนิ่ง การหยิบจับและการช่วยเหลือตนเอง สามารถควบคุมและบังคับการทรงตัวได้ดี ทำให้เด็กวัยนี้ พร้อมที่จะทำกิจกรรมเกี่ยวกับการออกกำลัง การเล่นกลางแจ้ง การใช้มือก็มีความละเอียดขึ้น เด็กสามารถแต่งตัวเองได้ หวี ผม แปรงฟันได้เอง และสามารถช่วยทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้  เราจะเห็นว่าเด็กในวัยนี้มีการพัฒนาด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กดังนี้
กล้ามเนื้อมัดใหญ่ 
-          ยืนขาเดียวได้นานขึ้น
-          ปีนป่ายบันไดและเครื่องเล่นกลางแจ้ง
-          เดินลงบันไดแบบสลับขา
-          วิ่งหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้
-          ถีบจักรยาน 3 ล้อได้
-          วิ่งไปเตะลูกบอลได้โดยไม่ต้องหยุดเล็ง
กล้ามเนื้อมัดเล็ก
-          วาดรูปสี่เหลี่ยมตามแบบได้
-          วาดรูปคนที่มีส่วนต่างๆได้ 3 ส่วน
-          ร้อยลูกปัดขนาดเล็กได้
-          เลียนแบบการทำสะพานได้
-            ตัดกระดาษกรอบรูปได้
 เด็กจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องให้ผู้ใหญ่เฝ้าในการเล่น ใช้พลังงานไปกับการเล่น จะรู้สึกดีที่ได้แสดงออกในสิ่งที่ตนต้องการ เต็มใจลองของใหม่และสิ่งแปลกใหม่



พฤติกรรมของเด็กอายุ 3-5 ปี
ชอบตั้งคำถาม  เด็กในวัยนี้มีพัฒนาการทางภาษาค่อนข้างมาก  สามารถเล่าเรื่องเป็นประโยค
         ยาวๆได้  ร้องเพลงง่ายๆได้   ทำให้มักชอบตั้งคำถาม   ช่างคิด  ช่างสงสัยในสิ่งต่างๆ
                         เริ่มช่วยเหลือตนเองได้  เช่น รับประทานอาหาร  แต่งตัว  ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ด้วยตนเอง   และยังชอบช่วยผู้ใหญ่ทำงานเล็กๆน้อยๆ เราควรส่งเสริมให้เด็กเกิดความภูมิใจด้วยการชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำ  และให้ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆด้วยตนเอง
                          เล่นกับเพื่อน มักจะเล่นอยู่ในกลุ่มเพื่อน 2-3 คน ทำให้ได้เรียนรู้เงื่อนไขทางสังคมใหม่ๆที่นอกเหนือไปจากที่บ้าน  เริ่มบอกความแตกต่างระหว่างเพศได้  Piaget นักจิตวิทยากลุ่มที่เน้นความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) กล่าวว่า เด็ก 3-5 ขวบ เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมจากเพื่อนในโรงเรียนอนุบาลหรือเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน แต่เด็กวัยนี้ยังเข้าใจถึงความถูกต้องและความผิดไม่ลึกซึ้งนัก
                          มีจินตนาการ  เด็กวัยนี้ชอบของเล่นที่ใช้ความคิด  หากได้เล่นจินตนาการ  หรือแสดงบทบาทสมมุติจะเล่นได้เรื่อยๆ เช่น พ่อแม่ ครู ตำรวจ ซึ่งเด็กมักจะเล่นบทบาทสมมติเป็นบุคคลที่มีอำนาจในสายตาเด็ก การเล่นบทบาทสมมติเป็นสิ่งที่เราควรส่งเสริมเพราะช่วยให้เด็กได้มีจินตนาการ  และเป็นการปลดปล่อย   บางครั้งเวลาที่ให้เด็กเล่าเรื่องอาจเป็นเรื่องจริงปนเรื่องสมมุติ  พ่อแม่และผู้ปกครองควรต้องระวังไม่ให้กลายเป็นติดนิสัยโกหก  โดยไม่ควรใช้วิธีดุว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง  แต่อาจใช้วิธีการทำให้เด็กรู้ว่ากำลังพูดเรื่องโกหก เช่น
คุณแม่ - ใครทำน้ำหก
หนูเล็ก- พี่แดงทำค่ะ
คุณแม่ - พี่แดงไปโรงเรียนแล้ว จ๊ะ หนูไปเอาผ้ามาเช็ด วันหลังต้องอย่าวิ่งเวลาถือแก้วน้ำนะจ๊ะลูก
เจ้าอารมณ์  เด็กในวัยนี้มักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเปิดเผย  เช่น โมโห  ไม่พอใจมักแสดง
อาการกระทืบเท้า   อิจฉาอะไรโดยไม่มีสาเหตุ  และกลัวอะไรอย่างสุดขีด  อาจเกิดจากสัญชาตญาณหรือระดับสติปัญญาที่เพิ่มมากขึ้น  ทำให้รู้ว่าสิ่งใดมีอันตราย
ในด้านพฤติกรรมนั้นผู้ใหญ่ควรเข้าใจว่าเด็กในวัยนี้มีจินตนาการสูง  และกำลังอยู่ในช่วงของการ
เรียนรู้สังคมที่นอกเหนือไปจากที่บ้าน  ทำให้การแสดงออกของพฤติกรรมอาจไม่เหมาะสม  แต่จะต้องแยกตัวเด็กออกจากพฤติกรรมของเขา เช่น จะต้องบอกว่า “ครูรักหนู แต่ครูไม่ชอบในสิ่งที่หนูทำ หนูทำแจกันแตกเป็นสิ่งที่ไม่ดี มันทำให้เกิดอันตราย” แต่ถ้ามันเป็นอุบัติเหตุก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า ไม่เป็นไรมันเป็นเพียงอุบัติเหตุ คราวหน้าหนูควรทำอย่างนี้ และที่สำคัญครูควรต้องระวัง ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ควรให้เด็กคิดถึงสิ่งที่เขาควรทำได้ สำหรับวัยนี้และจะต้องชมเชยเมื่อเด็กทำได้ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง รวมทั้งเรื่องความคิด การตัดสินใจ การสร้างทัศนคติที่ดี ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสามารถที่จะทำได้  

ทักษะสำคัญในการใช้ชีวิต ของเด็กอายุ 3-5 ปี
                         ทักษะที่ต้องเริ่มฝึกหัดและฝึกฝนให้ลูกก็คือสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิตของเขาในวัยปัจจุบัน และจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่ทักษะชีวิตที่ยากและซับซ้อนขึ้น ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคตข้างหน้า
ความคล่องแคล่วชำนาญในทุกๆ พัฒนาการทางกาย ที่จะเกิดขึ้นตามวัย เช่น เดิน วิ่ง กระโดด
หยิบจับสิ่งของ ขีดเขียน การพูดจาสื่อสาร ซึ่งเกิดขึ้นได้จากกิจกรรมต่างๆ
ส่งเสริมได้โดย : ให้ลูกได้เล่นออกกำลัง เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขน-ขา มือ-นิ้วมือ ฝึกการทำงาน
ประสานกันของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ การทรงตัว เช่น พาไปเล่นในสนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสนาม เคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี เตะบอล ขี่จักรยาน 3 ล้อ ต่อบล็อก ปั้นแป้ง
  • ให้ลองลงมือทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองบ้าง ตามวัยที่เขาทำได้ เช่น ให้ลองจับแปรงแปรงฟันเอง ล้างมือ ล้างหน้า กินอาหาร ถอด-ใส่เสื้อผ้า รองเท้า เริ่มจากง่ายๆ ก่อนโดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และอาจช่วยเหลือบ้างถ้าเห็นว่าลูกต้องการ ระหว่างนี้สามารถวางแบบแผนที่ควรจะเป็นของกิจวัตรได้ด้วย เช่น แปรงฟันตอนเช้า-ก่อนเข้านอน ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ถอดรองเท้าวางเข้าที่ เป็นต้น 
  • จัดกิจกรรมที่เด็กจะได้สื่อภาษา เช่น ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง เล่านิทาน เล่นบทบาทสมมติ พูดคุยกับลูกให้มากในทุกๆ ช่วง ทุกๆ กิจกรรมที่ได้อยู่กับเด็ก เช่น ขณะเล่น ขณะทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้เด็กได้เห็นตัวอย่างการใช้ภาษา ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ และต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองใช้ภาษา ด้วยการชวนคุยแบบตั้งคำถามและให้ความสำคัญกับการฟังในสิ่งที่เด็กพยายามสื่อสาร  
สร้างทักษะชีวิต : การทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เช่น ทำกิจวัตรประจำวันได้เอง ช่วยเหลือตัวเองได้
สามารถทำและสื่อสารให้ผู้อื่นรู้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ สิ่งเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่ความเชื่อมั่น และการเห็นคุณค่าในตัวเอง
ถ้ายิ่งมีโอกาสทำอะไรด้วยตัวเองบ่อยเท่าไร โอกาสของการได้ลองผิดลองถูก ได้คิดวิเคราะห์
แก้ปัญหา ตัดสินใจในระหว่างที่ทำกิจกรรมเหล่านี้นั้นก็จะมีมากขึ้น ความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจก็จะสะสมมากขึ้นเป็นวงจรเรียนรู้ ที่มีแต่ได้กับได้ นอกจากนี้เด็กๆ ที่ช่วยเหลือตนเองได้มาก จะเป็นคนที่รู้จักรับผิดชอบและปรับตัวง่ายด้วย

ความชำนาญ ในการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เด็กๆ ต้องได้ฝึกทักษะการใช้สายตา การรู้จักแยกแยะ
กลิ่น เสียง การลิ้มรสและสัมผัสที่แตกต่าง

ส่งเสริมได้โดย : การจัดหนังสือ ของเล่นที่จะกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสครบทุกด้าน เช่น
ของเล่นที่มีสีสัน มีเสียง เคลื่อนไหวได้ หรือแม้แต่การเล่นจ๊ะเอ๋ ซ่อนหาสิ่งของ เล่นทราย กิจกรรมทดสอบประสาทสัมผัส หนังสือสีสันสดใสมีรูปแบบน่าสนใจ เช่น หนังสือภาพ หนังสือ pop up เป็นต้น
  • จัดสิ่งแวดล้อมให้หลากหลายและน่าสนใจ ที่ช่วยเร้าความสนใจในการเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งภายในบ้าน รอบบ้านหรือการพาลูกไปเที่ยวที่ต่างๆ และชี้ชวนให้ลูกสังเกต ลงมือทำ สัมผัสกับของจริง หรือแม้แต่การจัดเมนูอาหารที่หลากหลาย ที่สำคัญไม่ต้องสกัดกั้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กด้วยการละเลยคำถาม หรือตอบอย่างดุดันรำคาญ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปี ที่เด็กเป็นเจ้าหนูจำไมชอบซักถาม
สร้างทักษะชีวิต : เด็กจะได้รู้จักโลกรอบๆ ตัว ทั้งสัตว์ สิ่งของ ผู้คน สถานที่ ฯลฯ สั่งสมเป็น
ฐานข้อมูลในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ นำไปสู่ความเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด วิเคราะห์ สามารถแยกแยะความแตกต่างของสิ่งรอบตัวได้ และเมื่อความอยากรู้อยากเห็นได้รับการตอบสนองอยู่เรื่อยๆ ลูกจะกลายเป็นเด็กที่มีความกระหายใคร่รู้ กระตือรือร้นกับสิ่งใหม่ อยากรู้อยากลอง
ทักษะในการสัมพันธ์กับผู้อื่น  โดยการเรียนรู้วิธีสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
ส่งเสริมได้โดย : โอบกอด สัมผัส ให้ความรัก ดูแลและปฏิบัติต่อเด็ก บุคคลอื่น หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงด้วยท่าทีอ่อนโยน พูดจาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เป็นการให้แบบของการแสดงออกทั้งกิริยาและคำพูดที่เหมาะสม
  • ดูแลเด็กโดยใช้เหตุใช้ผลผ่อนปรนตามความต้องการของลูกบ้างในบางเรื่อง เพื่อให้เริ่มเรียนรู้ที่จะแยกแยะสิ่งที่ควรและไม่ควร และเห็นวิธีการจัดการกับความไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ เป็นฐานของการคิดวิเคราะห์หาเหตุผล การแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนหาวิธีที่ดีที่สุด
  • พาไปร่วมกิจกรรมที่ต้องสัมพันธ์กับคนอื่นและให้ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนอกบ้าน เช่น เมื่อไปซื้อของ เวลาที่เข้าแถวรอจ่ายเงินหรือทำธุระต่างๆ ให้เด็กได้อยู่ร่วมในบรรยากาศแบบนี้บ้าง ระหว่างรอก็เล่าให้รู้ว่ากำลังทำอะไร ทำไมจึงต้องรอ ถ้าทำเป็นประจำเด็กจะค่อยๆ ซึมซับและเรียนรู้วัฒนธรรมของการเข้าคิว รู้จักรอคอย และเคารพสิทธิ์ผู้อื่น
  • ให้เรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้ให้ ผู้รับ เช่น เทศกาลต่างๆ ก็พาลูกไปช่วยเหลือ ช่วยเตรียมของขวัญให้ญาติ เพื่อน หรือให้เด็กเป็นคนมอบของขวัญนั้น หรือการซื้ออาหารให้สัตว์ตามสวนสัตว์ การให้อาหารสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ก็เป็นกิจกรรมที่เป็นฐานไปสู่การรู้จักคิดถึงผู้อื่น การมีน้ำใจได้
ทักษะทางด้านอารมณ์ คนที่มีทักษะทางอารมณ์ที่ดี คือคนที่รู้จักและเท่าทันอารมณ์ตัวเอง จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ เกิดขึ้นได้จากความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และการมีอารมณ์มั่นคง
 ส่งเสริมได้โดย : เลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ โอบกอด สัมผัสอย่างสม่ำเสมอ จะเกิดเป็นความไว้วางใจ เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นที่รัก ไม่ถูกทอดทิ้ง เป็นฐานของการเห็นคุณค่าในตัวเอง
  • สนใจและให้อิสระเด็กได้ทำในสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่สนใจ โดยให้เด็กคิด เลือกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยให้คำแนะนำให้การสนับสนุนและชื่นชม ก็จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่สนใจ ยอมรับจากคนที่เขารัก ก็เกิดเป็นความมั่นใจ เห็นคุณค่าตัวเอง อารมณ์มั่นคง
  • จัดของเล่น กิจกรรมที่ลูกได้แสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เล่านิทาน การฟังเพลง การเล่นจินตนาการกับตุ๊กตา ของเล่นต่างๆ การทำงานศิลปะ ทั้งที่เล่นคนเดียว เล่นรวมกับพ่อแม่หรือคนอื่นๆ หรือจะเป็นของเล่นหรือกิจกรรมที่เด็กจะได้ใช้สมาธิจดจ่อ เช่น เกมต่อภาพ ต่อบล็อก แป้งปั้น ร้อยลูกปัดก็ช่วยสร้างอารมณ์ที่มั่นคงได้ แม้แต่วิธีการเล่นของเล่นทีละ 1 อย่าง เล่นแล้วเก็บแล้วค่อยหยิบของเล่นชิ้นใหม่มาเล่น วิธีนี้สอนได้ทั้งเรื่องวินัยและสมาธิ การจดจ่อทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เด็กได้ และสิ่งนี้ยังเป็นฐานของการพัฒนาไปสู่ความมุมานะ พยายามตั้งใจได้อีกด้วย
ธรรมชาติของเด็กและเยาวชนคือ  การอยากเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ  อยู่เสมอ  ประกอบกับในยุคสมัยนี้มีเครื่องมือสื่อสารต่างๆ  ที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่ายและรวดเร็ว  ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตหรือเกมออนไลน์  ทำให้เยาวชนขาดความระมัดระวังในการเลือกรับสื่อเหล่านี้  และบางคนอาจจะเลือกรับสื่อที่ไม่เหมาะสม  ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อตัวเด็กและเยาวชนได้อีกด้วย

จิตวิทยาของเด็กอายุ 3-5 ปี
ในวัยนี้เป็นช่วงที่เด็กมีสมรรถภาพทางกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสดีมากขึ้น เด็กเริ่มที่จะเคลื่อนไหว ต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว Erik H. Erikson กล่าวว่า ในวัยนี้เป็นวัยที่เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ช่างซักถาม เป็นเจ้าหนูจำไม ซึ่งผู้ใหญ่ควรโต้ตอบให้ความรู้กับเด็กเพราะจะส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก เด็กจะคิดใหม่ พูดใหม่ ทำอะไรใหม่ๆ ทุกวัน ระบบความจำและสมาธิดีขึ้น และเป็นวัยที่มีจินตนาการสูง มีความคิดแบบที่ยึดเอาตนเองเป็นหลัก และคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้มีชีวิตมีความรู้สึก เช่น ต้นไม้ร้องไห้ถ้าโดนตัด เป็นต้น แต่ก็จะเริ่มลดลงในช่วงหลัง ให้เหตุผลง่ายได้ๆ จินตนาการบางอย่างของเด็กนั้นผู้ใหญ่ต้องคอยดูและแยกแยะระหว่างความจริงกับจินตนาการให้เด็กเพื่อไม่ให้เด็กติดนิสัยโกหก ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ต้องสนับสนุนให้เด็กได้สร้างสรรค์จินตนาการของตนเองอย่างเหมาะสม เช่น มีของเล่นที่สามารถใช้เล่นบทบาทสมมติได้ ตุ๊กตามือ หรือนิทานต่าง ๆ ซึ่งเด็กที่ได้รับการส่งเสริมเต็มที่จะกลายเป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเล่นบทบาทสมมติเป็นการช่วยระบายความกลัว เช่น เด็กกลัวหมอฟัน การเล่นบทบาทสมมติเป็นหมอฟันอาจช่วยลดความกลัวตรงนี้ได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นว่าเด็กกลัวฝังใจ นอกจากนั้นการเล่นบทบาทสมมติยังพัฒนากระบวนการคิดเป็นขั้นตอน การให้เด็กได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ และพ่อแม่ต้องรู้จัก “ชม” อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการเสริมแรงให้ลูกกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป หากเด็กทำผิด ก็ต้องลงโทษอย่างเหมาะสมเช่นกัน แต่การลงโทษนั้นไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมถาวรเท่ากับการเสริมแรงด้วยการชม นอกจากนี้ ในวัยนี้เป็นวัยที่เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยจะมีการเลียนแบบพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกันซึ่งเป็นการเรียนรู้บทบาททางเพศ Albert Bandura กล่าวว่า พฤติกรรมส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้โดยการสังเกต หรือเรียนรู้จากตัวแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวแบบที่เป็นบุคคลจริง ๆ เช่น พ่อแม่ เพื่อน ครู หรือตัวแบบเชิงสัญลักษณ์ เช่น ตัวละครในโทรทัศน์ ตัวการ์ตูน หากตัวแบบใดทำพฤติกรรมแล้วได้รับรางวัล ตัวเด็กก็มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นๆ ตามตัวแบบที่ได้รับรางวัล จริยธรรมของเด็กในวัยนี้จะเริ่มพัฒนาแต่จะพัฒนาจาก ตัวแบบ การลงโทษ การให้รางวัล และการสั่งสอน
การเล่นของเด็กนั้นเด็กจะมีกลุ่มเพื่อนอาจจะสองถึงสามคน ซึ่งการเล่นเป็นกลุ่มนี้ช่วยให้เด็กเรียนรู้กฏเกณฑ์ รู้จักสร้างกฎและทำตามกฎ การปรับตัวและการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น เป็นการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเล่นเป็นกลุ่มนี้ยังช่วยลดความคิดที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของเด็กด้วย เพราะเมื่อเล่นกับคนอื่น เด็กย่อมต้องรู้จักการปรับตัว และหัดมองในมุมของคนอื่นเพื่อตนเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งและเล่นร่วมกับคนอื่นได้ นอกจานั้นยังทำให้เกิดการเลียนแบบกันเองด้วย
หากพ่อแม่ ผู้ปกครองให้การสนับสนุนที่ดีแก่เด็กได้ เด็กในวันนี้ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า

พัฒนาการของเด็กแรกเกิดถึง 4 เดือน

พัฒนาการ ทางด้านร่างกาย การเจริญเติบโตที่เห็นได้ชัด
น้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7-0.9 กก ต่อเดือน
ความยาวลำตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-4 ซม.ต่อเดือน
ทารกเริ่มหันมองดูรอบๆ และเริ่มอ้วนท้วนสมบูรณ์ พร้อมทั้งเริ่มพัฒนากล้ามเนื้อ
 และเริ่มลดความจ้ำม่ำลงเมื่อเขาเริ่มมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น

การเคลื่อนไหวร่างกายกล้ามเนื้อหลังและคอเริ่มเหยียดตรง และเริ่มพัฒนาความสมดุลของลำตัว
ขณะเดียวกันศรีษะ และคอเริ่มก้าวหน้าโดยชูศรีษะขึ้นได้ตั้งตรงและมั่นคง
ยกศรีษะและหน้าอกช่วงลำตัวได้โดยใช้แขนพยุงหน้าท้องไว้
เริ่มนั่งเองได้แต่ยังต้องพิง
เริ่มพลิกตัวม้วนกลับด้านข้างได้ภายในเดือนที่ 4 ขณะเดียวกันเขาสามารถที่จะ
เหยียดและยืดขาเต็มที่พร้อมทั้งเตะขาเมื่อนอนเหยียดนอนคว่ำเหยียดขายืดยาว
วางเท้าลงบนพื้นที่หนาแน่นมั่นคง
ทักษะการใช้นิ้วและมือ
 เริ่มกำและแบมือเริ่มสนใจวัตถุและสิ่งของที่อยู่ขวางหน้า จับ เขย่าและเขวี้ยง เอาเข้าปาก
เอานิ้วหัวแม่โป้งใส่ปากแล้วดูด
การมองเห็น/ การได้ยิน/ การพัฒนาคำพูด การมองเห็น เมื่ออายุ 1 เดือน ทารกสามารถมองเห็นชัดเจน ในระยะ 12 นิ้ว เท่านั้น
ระยะทางของความชัดในการมองเห็นจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ระยะ หรือมากกว่า 4 เดือน และเรียนรู้ที่จะจ้องมองให้นานขึ้น และพยายามเลียนแบบสีหน้าที่แสดงออกของคุณ
การมองเห็นสีก็อยู่ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จากการจำกัดในการเห็นอยู่ที่เพียงสีขาวและดำ พัฒนาเป็นสีธรรมชาติเต็มรูปแบบภายในเดือนที่ 4
ความสนใจของทารกก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นจากสิ่งง่ายๆไปสู้เส้น วงกลม และรูปแบบที่ซ้ำซ้อนมากยิ่งขึ้น
เริ่มประสานความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวของมือและตา การได้ยินและการออกเสียง
สามารถระบุเสียงที่มาของคุณแม่ได้และยิ้มตอบรับ
สามารถหันศีรษะกลับไปยังแหล่งต้นกำเนิดเสียงได้
เริ่มพูดอ้อแอ้ไม่ชัดเจนและชอบเลียนเสียง
พยายามเรียนรู้การแปลความหมายจากอารมณ์ของคุณแม่ จากน้ำเสียงที่โต้ตอบ เช่นการยิ้ม เพื่อคุณแม่พูดจาด้วยอย่างผ่อนคลาย

พํฒนาการ ด้านบุคลิกภาพ การเข้าสังคม/ อารมณ์
เริ่มเรียนรู้ที่จะยิ้มเพื่อเป็นวิธีสื่อสาร และเรียกร้องความสนใจจากคุณ
ชอบเล่นกับผู้คนแต่จะร้องไห้เมื่อการเล่นจบลง
แสดงความรู้สึกผ่านทางสีหน้าและร่างกาย
พูดเสียงอ้อแอ้และชอบเลียนเสียงต่างๆ

ผู้ติดตาม