วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เคล็ดลับสนับสนุนของพ่อแม่

คุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องการวาดของลูก แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ลองทำวิธีเหล่านี้ดูนะคะ
       1.  เตรียมอุปกรณ์การวาดที่ปราศจากสารเคมีสำหรับลูก รวมทั้งเตรียมกระดาษสำหรับวาดให้เขาด้วยนะคะ
       2.  คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าชอบการวาดรูปให้ลูกดู แต่ไม่ควรวาดเป็นตัวอย่างให้ลูกต้องวาดตาม
       3.  ให้กำลังใจโดยการชมว่ารูปที่ลูกวาดนั้นสวย ทั้งเรื่องของการใช้สี เส้น และรูปร่างต่างๆ
       4.  ขณะที่ลูกวาดรูปควรถามลูกว่าวาดรูปอะไรอยู่ เพื่อให้ลูกได้อธิบายถึงภาพที่กำลังวาด และแนะนำให้เติมสิ่งที่วาดขาดไปค่ะ
       5.  คุณพ่อคุณแม่อาจเตรียมหนังสือที่มีเส้นประไว้ให้ลูกวาดก็ได้ค่ะ และสามารถเตรียมรูปทรงหลายๆ ประเภท สีกระดาษที่มีพื้นผิวต่างๆ กัน เพื่อให้เด็กได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่
       6.  คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายเรื่อง ความหนา-บาง ความกว้าง-แคบ ความมืด-สว่าง รูปเหลี่ยมชนิดต่างๆ ลายเส้น ทั้งเส้นตรง เส้นโค้ง ฯลฯ เพื่อให้ลูกมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
       7.  หาภาพวาดที่สวยงามมาติดไว้ในจุดที่ลูกสามารถมองเห็นได้
       8.  เปิดเพลงเพราะๆ ขณะที่ลูกกำลังวาดภาพ และสังเกตว่าจังหวะของดนตรีจะเปลี่ยนแปลงการวาดของลูกอย่างไรบ้าง
       9.  ปล่อยให้ลูกเลือกว่าอยากจะวาดอะไรรวมทั้งให้เขาเลือกใช้สีได้ตามใจชอบค่ะไม่ควบบอกให้เด็กวาดหรือบอกให้เด็กใช้สีตามที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเหมาะสม เพราะเด็กจะไม่ได้ใช้ความคิดและจิตนาการของตนเองค่ะ
      10. เมื่อลูกวาดรูปคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งคำถาม ให้คำแนะนำและให้กำลังใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในความสามารถของตัวเขาเอง
ไม่น่าเชื่อนะคะว่า การวาดจะมีบทบาทสำคัญสำหรับเด็กมากมายขนาดนี้ ฉะนั้นคราวหน้าหากลูกวาดภาพอะไร หรือจะเป็นเพียงลายเส้นยุ่งๆ ก็ตาม อย่าลืมเอ่ยชมผลงานของเขานะคะ ใครจะรู้ว่าคำพูดให้กำลังใจเพียงไม่กี่คำของคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขากลายเป็นศิลปินยิ่งใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้

ศิลปะเด็ก vs ศิลปะบำบัด

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าศิลปะบำบัดต่างจากศิลปะเด็กอย่างไร ในเมื่อศิลปะบำบัดก็มีแค่การวาด การปั้น ดนตรี การเคลื่อนไหว ซึ่งก็พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของลูกอยู่แล้วถ้าลูกเรียนศิลปะอยู่จะถือว่าเป็นการบำบัดไปในตัวได้หรือไม่
คำตอบก็คือไม่ได้ค่ะ เพราะศิลปะเด็กและศิลปะเด็กและศิลปะบำบัดมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน โดยครูมอสได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างศิลปะทั้ง 2 อย่างเอาไว้ดังนี้
ศิลปะบำบัด จะเป็นการใช้ศิลปะกับเด็กที่มีความเจ็บป่วยไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ โดยเน้นไปที่กระบวนการทำงาน ในแต่ละขั้นตอนว่าเด็กที่เข้ารับการบำบัดนั้นมีความสงบนิ่ง มีสมาธิ มีความตั้งใจหรือไม่ มากกว่าจะมานั่งสนใจว่าผลงานจะออกมาสวยหรือไม่สวยครับ
ศิลปะบำบัดจะเน้นที่การทำงานของแต่ละคน เพราะจะมีรายละเอียดของการใช้ศิลปะในการบำบัดแตกต่างกัน จึงต้องบำบัดทีละคน หรือกลุ่มเด็กที่มีบุคลิกใกล้เคียงกัน และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างนักศิลปะบำบัดในการออกแบบวิธีเพื่อทำงานกับเด็กที่มีความเจ็บป่วยเท่านั้นพ่อแม่หรือครูศิลปะเด็กไม่สามารถทำได้เอง
แต่ ศิลปะเด็ก จะเน้นไปที่วัตถุประสงค์มากกว่ากระบวนการทำงาน และไม่มีข้อจำกัดอะไรมากมาย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็สามารถสอนศิลปะได้ และสามารถสอนคนเดียวหรือสอนเป็นกลุ่มก็ได้ ไม่ว่าเด็กจะป่วยหรือไม่ป่วยก็สามารถใช้ศิลปะเด็กได้ และพ่อแม่สามารถสร้างศิลปะขึ้นในบ้านได้เองด้วยครับ
ศิลปะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มีชีวิตอยู่ในตัวเอง เช่น ดนตรี ทำไมเวลาเราร้องเพลง หรือเล่นดนตรีแล้วมีความสุข ทำไมเวลาเราวาดรูปแล้วจึงมีสมาธิ วาดได้นานแบบไม่มีเบื่อ นั่นคือ ความมหัศจรรย์ที่มีอยู่ในศิลปะ การที่เด็กได้ทำศิลปะนั้น จะเป็นการช่วยหล่อหลอมและปรับจิตใจ เพราะศิลปะเป็นเรื่องของความรู้สึก (Feeling) เป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจ ดังนั้น เครื่องมือที่รักษาจิตหรือพัฒนาจิตให้ดีขึ้นก็คือศิลปะ
-------------------------------------------------------------------------------------------
โดย : นวพรรณ
ข้อมูลจาก :  www.iqeqdekthai.com

พัฒนาสมองลูกด้วยดนตรี

"ดนตรีนั้นเป็นเครื่องมือที่มีอำนาจมากกว่าการศึกษาวิชาใดๆ"

ดิฉันรักไวโอลินมาก ขนาดว่าแค่เห็นไวโอลินก็มีความสุข อยากเล่นไวโอลินทุกวัน ถ้าอยู่ว่างๆ บางครั้งก็คิดถึงเสียงไวโอลิน

เสียงดนตรีไม่ได้มีความสำคัญแค่สร้างความสุขให้ชีวิตประจำวัน ดิฉันได้พบข้อมูลว่า ดนตรีมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมองมาก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีงานวิจัยค้นคว้าจำนวนมากยืนยันว่า เด็กที่เรียนดนตรี เล่น ดนตรี จะส่งผลให้เรียนวิชาอื่นๆ ดีขึ้นด้วย

ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมูนสเตอร์ ประเทศเยอรมัน (University of Munster) พบว่า สมองของเด็กที่เรียนดนตรี โดยเฉพาะส่วนที่วิเคราะห์ระดับเสียงจะโตกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนดนตรีถึง 25% และบอกอีกว่า การเล่นเปียโนมีความซับซ้อนกว่าการทำงานของคอมพิวเตอร์เสียอีก คนที่เล่นเปียโนจะมีความสามารถ และมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ซับซ้อนขึ้น นักเรียนเปียโนสามารถเล่นหมากรุก เรียนวิศวกรรม เรียนคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เล่นเปียโน 34% (พบในเด็กที่เรียนเปียโนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน)

ส่วนงานวิจัยจากรัฐโรดไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกาพบว่า นักเรียนเกรด 1 (ประถมต้น) ที่เล่นดนตรี จะอ่านหนังสือได้คล่องขึ้น และเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนดนตรี รวมทั้งพัฒนาการด้านอื่นก็ดีขึ้นด้วย คือเด็กมีความถนัดในการหยิบจับสิ่งของได้กระฉับกระเฉงขึ้น

ในเมื่อดนตรีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กเช่นนี้ ดนตรีจึงไม่ใช่วิชาข้างถนนอีกต่อไป การเรียนดนตรีของเด็กๆ จึงมีความหมายมากขึ้น และยิ่งถ้ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ดนตรีก็จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตเขาอย่างมากด้วย

สำหรับดิฉันเอง อยากจะบอกว่า ทฤษฎีการฝึกฝนเรียนไวโอลินจริงๆ นั้นค่อนข้างยาก... แต่สนุกค่ะ
ถ้าจะส่งเสริมให้ลูกได้เรียนไวโอลิน สำหรับเด็กประถมมัธยมแล้ว อาจจะอยู่ในช่วงกำลังค้นหาตัวเอง ขั้นต้นจึงไม่ต้องไปลงทุนซื้อไวโอลินแพงมาก แล้วถ้าเผื่อลูกเลิกเรียนกลางคัน เพราะว่าเบื่อหน่ายหรือเพราะยากเกินไป ก็ต้องมาคุยกันเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อย่าเพิ่งตัดสินว่า ลูกจับจดหรือลูกไม่มีความมานะพยายาม

ดิฉันอยากจะยกตัวอย่างการเรียนการสอนดนตรีของซูซูกิ (Suzuki) ซึ่งเป็นระบบการเรียนการสอนดนตรีสำหรับเด็ก (ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกมาเป็นแนวทาง (ผู้ที่ทุ่มเทคิดค้นระบบการสอนนี้คือ ชินนิจิ ซูซูกิ (Shinichi Suzuki) ผู้มีอายุยืนถึง 100 ปี (พ.ศ. 2441-2541))

ซูซูกิเชื่อว่า ความสามารถที่เรียกว่า 'อัจฉริยะ' ไม่ได้มีติดตัวคนเรามาตั้งแต่เกิด ทุกคนเกิดมาไม่มีความสามารถอะไรเหมือนๆ กัน ต้องอาศัยการเรียนรู้ การฝึกฝน และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ซูซูกินคิดค้นหลักสูตรที่เรียกว่า “Talent Education” ซึ่งเป็นความสามารถที่เกิดจาก วิธีการเดียวกับการเรียนรู้ภาษาแม่ (Mother-tongue approach) คือเกิดจากการฝึกซ้อมที่ถูกต้อง การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดจากตัวเด็กเองไม่ใช่โดยทฤษฎีหรือข้อแนะนำใดๆ และเคล็ดลับสำคัญคือค่อยๆ เรียนรู้ ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง สอนแบบธรรมชาติ แบบพ่อแม่สอนลูก ให้กำลังใจด้วยความรัก กระตุ้นให้ฝึกซ้อมบ่อยๆ อย่างมีวินัย
นอกจากนี้ แนวทางของซูซูกิยังมีอีกว่า
- ครูของหลักสูตรนี้ต้องมีทัศนคติว่า ทักษะทางดนตรีสามารถพัฒนาได้ในเด็กทุกคน
- หากเรียนดนตรีตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะช่วยให้เด็กผูกพันกับดนตรีง่าย
- พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมในการเรียนดนตรีของลูกด้วย
- เด็กควรได้สัมผัสและมีประสบการณ์การเล่นดนตรีที่ง่ายๆ ก่อนเรียนโน้ตดนตรี (และอย่าสอนเงื่อนไขทางดนตรีก่อนที่เขาจะเล่นดนตรีเป็น)
- เทคนิคของการเล่นจะต้องเป็นลำดับขั้นตอน
- เพลงทุกๆ เพลงที่เรียนผ่านไปแล้ว ต้องได้รับการทบทวน ขัดเกลาสม่ำเสมอ
ระบบซูซูกิเน้นการทบทวน ฝึกฝนเพลงที่เรียนไปแล้ว

ในชั้นเรียนทุกๆ ครั้ง ควรย้อนกลับไปทบทวนบทเพลงที่เรียนไปแล้วอยู่เสมอ วิธีนี้เด็กจะพัฒนาคุณภาพการเล่นไปเอง เสียงถูกต้อง ไม่เพี้ยน มีความไพเราะขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องยากที่คนเราจะทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน ถ้าต้องเล่นเพลงใหม่ ก็จะต้องใช้สมาธิในการอ่านโน้ตแต่ละตัว จึงไม่สามารถคิดถึงท่าทางที่ถูกต้อง สวยงาม ความรู้สึกและอารมณ์เพลงไปด้วยได้ ต่อเมื่อเราเล่นได้คล่องแล้วนั่นแหละ กลไกทุกอย่างจะสอดคล้องไปได้ดีโดยอัตโนมัติ

บรรยากาศการเรียนดนตรีก็สำคัญ ต้องทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าดนตรีเป็นประสบการณ์ที่ดี อย่าบีบคั้นให้เด็กรู้สึกกดดัน

...เด็กจะรู้จักสร้างเสียงดนตรีที่ไพเราะ ก็จากรากฐานจิตใจที่งดงามค่ะ

เคล็ดลับการฝึกเล่นไวโอลิน

ตั้งเป้าหมายอย่างพอเหมาะ ตั้งเป้าหมายและวางแผนว่าจะฝึกซ้อมวันละกี่ชั่วโมง ซึ่งต้องเป็นไปได้ด้วย

ฝึกฝนอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถใช้เวลาเพียงวันละ 30 นาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งเวลาออกเป็น 3 ส่วน 10 นาที สำหรับการฝึกซ้อมคุณภาพเสียง (Tonalization) อีก 10 นาที สำหรับการซ้อมทบทวน และ 10 นาทีสุดท้ายสำหรับซ้อมส่วนอื่นๆ เช่น เพลงใหม่ การอ่านโน้ต การเตรียมเพลงที่จะฝึกในอนาคต

สมาธิและความตั้งใจ การเรียนไวโอลิน ต้องอาศัยทั้งความตั้งใจและสมาธิ เพราะต้องเรียนรู้ไปทีละขั้น ในแต่ละขั้นอาจมีปัญหาในการฝึกเทคนิค ก็ต้องใช้ความพยายาม และสติในการแก้ไขจนเกิดทักษะ

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

บำรุงสมองลูกน้อย เมื่อไรดี

เรื่องของ “สมอง” นั้นสำคัญที่สุด โดย เฉพาะกับลูกน้อย ซึ่งปัจจัยสำคัญ “อาหาร” ที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสมองของลูกน้อย
พญ.วรีรัตน์ ยมจินดา กุมารแพทย์ สาขาพัฒนาการ และพฤติกรรมเด็ก รพ.พญาไท 3 บอกว่า สมองของทารกมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ ซึ่งจะแบ่งเซลล์เร็วมากในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด ฉะนั้น ต้องเริ่มบำรุงตั้งแต่ในครรภ์และบำรุงต่อเนื่องจนหลังคลอด โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรก ถ้าลูกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอและเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง จะทำให้สมองมีการพัฒนาดีขึ้น


แน่นอนว่า “นมแม่” นั้นเป็น “อาหารที่ดีที่สุด” กุมารแพทย์ บอกต่อด้วยว่า ในช่วง 4-6 เดือนแรก นมแม่อย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว ทารกที่กินนมแม่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 2 เดือนขึ้นไปจะมีการเจริญเติบโตและมีขนาดสมองที่สมวัย มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ และเชาวน์ปัญญา การรับรู้ การมองเห็น การใช้กล้ามเนื้อที่แตกต่างจากทารกที่ได้รับนมผสม
นอกเหนือจากนมแม่แล้ว ลองดูอาหารอื่นที่เหมาะสมในแต่ละวัยกันบ้าง
 4 เดือน
เลือกข้าวบดละเอียดใส่ไข่แดงต้มสุก สลับกับตับบด น้ำซุป กล้วยน้ำว้าขูด 2 ช้อนชา แล้วค่อยๆ เพิ่มเป็นครึ่งถ้วย
 5 เดือน
เพิ่มเนื้อปลาต้มสุกและผักต้มเปื่อยประมาณครึ่งถ้วย ปลาต้มควรยีให้ยุ่ย อย่าให้มีก้างเหลือ ถ้าเด็กแพ้อาหารทะเล เลือกปลาน้ำจืดแทนก็ได้
 6 เดือน
เพิ่มเนื้อสัตว์ สับละเอียด รวมทั้งไข่ไก่ และข้าวบดที่หยาบขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1 ถ้วย
 7 เดือน
ลูกสามารถกินผลไม้ได้บ้างแล้ว ควรเลือกผลไม้ย่อยง่าย เช่น กล้วย มะละกอสุก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ฝึกให้ลูกเคี้ยว แต่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
 8-9 เดือน
ลูกเริ่มมีฟันขึ้น 3-4 ซี่ สามารถกินอาหารเนื้อหยาบกว่าเดิมได้ คุณแม่สามารถให้อาหารเสริมได้ 1-2 มื้อ
 10-12 เดือน
อาหารเสริมเพิ่มเป็น 3 มื้อ อาหารว่างวันละ 1 มื้อ หลังจากอายุ 6 เดือน จำนวนมื้อของนมแม่จะลดลง เมื่ออายุ 1 ปี อาหารเสริมจะกลายเป็นอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และนมแม่ วันละ 3-4 มื้อ
 1-3 ปี
หัดให้กินข้าวสวยหุงนิ่ม เหมือนผู้ใหญ่ได้แล้ว แต่ไม่ควรปรุงรส และควรให้อาหารว่างระหว่างมื้อด้วย เช่น น้ำผลไม้กับแพนเค้ก หรือ เลือกผลไม้ที่ลูกชอบ เช่น มะม่วงสุก ส้ม แอปเปิ้ล ฝรั่ง
อาหารเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาการของลูกน้อยอย่างยิ่ง เลือกให้เหมาะสมเพื่อให้ลูกได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
เป็นบทความที่ให้สาระมากเลยนะค่ะ

การจัดรายการอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย

เป็นการจัดอาหารสำหรับเด็กเมื่อมาอยู่ในสถานศึกษา คือ อาหารหลัก 1 มื้อ และอาหารว่าง พร้อมเครื่องดื่มในตอนเช้าและบ่ายอีก 2 มื้อ รวมเป็น 3 มื้อ อาจแยกได้ ดังนี้
1. อาหารหลัก เป็นอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการในการเสริมสร้างความเจริญเติบโต มีคุณ ค่าทางอาหารมาก เพื่อความสะดวกของผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรจัดเป็นรูปแบบอาหารจานเดียว ที่มี ความสมบูรณ์แบบทั้งคุณค่าทางโภชนาการ และเด็กสะดวกในการกินอาหารจานเดียว ซึ่งจะอยู่ ในลักษณะอาหารที่ปรุงสำเร็จใส่มาในจานเดียวกินได้โดยไม่ต้องมีอาหารอื่น เป็นการประหยัด เวลาและแรงงาน กำหนดคุณค่าทางอาหารได้ชัดเจน เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวทั้งน้ำและแห้ง ผัดมักกะโรนี ผัดไทย ซึ่งต้องมีอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เนื้อสัตว์ ผัก เด็กจะกินได้สะดวก
ข้อดี ของอาหารหลักประเภทอาหารจานเดียว คือ ไม่ต้องเสีย เวลาประกอบอาหารมาก สามารถทำได้อย่างรวดเร็วใช้เครื่อง มือ เครื่องใช้น้อย สามารถเพิ่มเติมส่วนประกอบได้ง่าย แต่ผู้ ปรุงต้องมีความรู้ทางโภชนาการที่จะปรับปรุงอาหารให้ดูน่ากิน โดยยังคงคุณค่า
2. อาหารว่าง เป็นอาหารที่มิใช่อาหารคาวหรืออาหารหวาน แต่เมื่อเด็กกินแล้วจะอิ่มใช้สำหรับ เสริมให้แก่เด็กก่อนกินอาหารกลางวันเวลา 10.00 น. เพราะเด็กบางคนอาจกินอาหารเช้ามาน้อยหรือไม่ได้กินเลย และก่อนกลับบ้านเวลา 14.00 น. เพื่อ เสริมอันเกิดจากเด็กกินข้าวเที่ยงน้อยหรือมิให้ท้องว่างเกินไป ก่อนกินอาหารเย็น ควรเป็นอาหารที่เตรียมง่ายหาได้ในท้องถิ่น เช่นชาละเปา ข้าวต้มมัด ฟักทอง นึ่ง ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคู ไส้หมู แซนวิชง่าย ๆ หลักการจัดอาหารว่างเสริมให้แก่เด็ก จะ ต้องจัดอาหารที่ให้แคลอรีและโปรตีน นอกจากนี้แล้วยังต้องให้ วิตามินหรือสารอาหารที่เพิ่มเติม ที่ยังขาดอยู่ให้แก่เด็กในแต่ ละวัน ทำได้ง่าย หาได้ในท้องถิ่น เด็กสามารถกินได้สะดวก ต้องไม่จัดอาหารด้อยคุณค่าให้แก่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบเป็น ซองที่ใส่สารชูรสมาก หรือขนมสำเร็จรูปใส่สี เช่น เยลลี่ที่ไม่มี คุณค่าทางอาหารเพราะเด็กจะได้รับพิษจากอาหารเหล่านี้ เมื่อ กินสะสมเป็นเวลานานๆ
3. อาหารหวาน เป็นอาหารที่สามารถเสริมคุณค่าของอาหาร หลักได้ จะมีรสชาติหวานน้อยไปจนหวานมาก ผู้เลี้ยงดูเด็กไม่ ควรเลือกอาหารที่ให้ความหวานแต่เพียงอย่างเดียว ควรเลือก ขนมหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการด้วย อาทิ เช่น ของหวาน ระหว่างขนมวุ้นใส่น้ำเชื่อมกับขนมถั่วแดงน้ำเชื่อม ควรเลือก ถั่วแดงที่จะให้คุณค่ามากกว่า โดยอาจใส่สีแดงหรือนมสดใน ถั่วแดงเป็นถั่วแดงเย็น เพื่อเปลี่ยนรสชาติของเด็ก

โภชนาการสำหรับเด็ก

1.      ความสำคัญของโภชนาการกับการเจริญเติบโต
โภชนาการมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ตั้งแต่ทารกเลยทีเดียว แต่ก็มีปัจจัยอื่นด้วย เช่น ด้านสังคม เศรษฐกิจ ด้านจิตใจ ก็เกี่ยวข้องด้วยมีหลายปัจจัยทีเดียวที่ส่งผลให้ภาวะโภชนาการไม่ดี ทั้งไม่มีจะกิน กินไม่พอ กินไม่ถูก ทำให้ขาดสารอาหารบางชนิด ขณะที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตต้องการสารอาหารมาก เมื่อขาด ก็ทำให้ไม่เจริญเติบโต ในทางตรงข้ามถ้าได้มากเกินไป ก็เป็นผลเสียเช่นเดียวกัน ทำให้มีน้ำหนักเกิน เกิดภาวะอ้วน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านร่างกายและจิตใจ บางทีเด็กที่อ้วนก็อาจขาดสารอาหาร ซึ่งพ่อแม่จะมองข้ามไป ที่เค้าอ้วนเพราะได้พลังงานเกิน  ตรงนี้ทำให้บดบังภาวะขาดสารอาหารได้  ส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องการขาดไวตามินและเกลือแร่  เนื่องจากเด็กกลุ่มอ้วนนี้มักจะไม่ค่อยกินพืชผัก-ผลไม้
สำหรับเรื่องของโภชนาการ  ก็คือเรื่องของอาหารการกิน  และเมื่อพูดถึงเรื่องกินของเด็ก  ความสนใจของพ่อแม่มักเพ่งไปที่เรื่อง คุณค่าทางโภชนาการของอาหาร เพราะอาหารย่อมมีผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย นอกจากตัวอาหารแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างคือพฤติกรรมการกินที่มีผลต่อการกำหนดนิสัยและบุคลิกภาพของเด็กในอนาคต  โดยการสะสมของพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่มื้อแรกในชีวิตของลูก  พฤติกรรมการกินต่าง ๆ ที่พ่อแม่ หรือคนเลี้ยงดู ได้กำหนดให้เขาทั้งที่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ จะมีผลต่อการกำหนดนิสัยของเขาในวันข้างหน้าอย่างฝังรากลึกเลยทีเดียว
2.      ความต้องการสารอาหารต่างๆ ในวัยเด็ก
การเจริญเติบโตในวัยเด็ก  โดยทั่วไปพบว่าอัตราการเจริญเติบโตของเด็กในวัยหลังขวบปีแรกจะช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงที่พบในช่วงที่เป็นทารก โดยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 2-3 กิโลกรัมจนถึงอายุ 9-10 ปี   อัตราการเพิ่มของน้ำหนักจะมากขึ้นอีกครั้งเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาวหรือวัยรุ่น    ส่วนการเพิ่มขึ้นของความสูงในเด็กจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 6-8 ซ.ม. ตั้งแต่อายุ 2 ปีจนถึงวัยหนุ่มสาว  เด็กจะต้องได้รับสารอาหารในปริมาณที่พอเพียงทั้งชนิดและปริมาณ   ซึ่งพลังงานที่เด็กควรจะได้รับต่อวันนั้นขึ้นกับอัตราการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคน และลักษณะกิจกรรมที่ทำ  เด็กบางคนค่อนข้างวิ่งเล่นซนมาก  ชอบเล่นกีฬา หรือมี activity มาก ก็จะมีความต้องการพลังงานมากกว่าเด็กที่มี activity น้อยกว่า พลังงานจากอาหารควรได้จากคาร์โบไฮเดรต 50-60 %   ไขมัน 30-35 % และโปรตีน 10-15 %
ไวตามินและแร่ธาตุ  ก็มีความสำคัญมาก  เพราะจะช่วยทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างปกติ   เด็กอายุตั้งแต่ 1 ถึง 3 ปี   อาจพบว่ามีปัญหาการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากร่างกายมีความต้องการความต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น   ถ้าเด็กได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กจากพืชผักเท่านั้น  อาจมีภาวะการขาดธาตุเหล็กได้   ควรให้เด็กรับประทานเนื้อสัตว์ด้วย
แร่ธาตุแคลเซียมซึ่งจำเป็นสำหรับเด็ก  พบว่าถ้าเด็กได้รับในปริมาณเพียงพอจะทำให้มีความหนาแน่นของกระดูกมาก  โดยมีการสะสมของแคลเซียมที่กระดูก   ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
-        เด็กอายุ 10-18 ปี ควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
-        เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี   ควรได้รับแคลเซียม  800 มิลลิกรัมต่อวัน
ในปัจจุบันมีข้อแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นในช่วงอายุ 9-18 ปี  รับประทานแคลเซียมในปริมาณที่มากกว่านี้คือ 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน   โดยอาจให้ดื่มนมหรือทานอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม และควรให้ออกกำลังกาย  เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ด้วย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก   สำหรับไวตามินที่จัดว่ามีความสำคัญในการดูดซึมและการสะสมของแคลเซียมในกระดูกคือไวตามินดี  ซึ่งก็ได้จากแสงแดดธรรมชาติ  เด็กส่วนใหญ่ก็คงจะได้เล่นกลางแจ้งบ้างอยู่แล้ว  ก็ไม่มีปัญหาการขาดไวตามินดี
สำหรับการให้ไวตามินและแร่ธาตุเสริมสำหรับเด็ก   จริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็นสำหรับเด็กปกติ  ยกเว้นการให้ฟลูออไรด์  ในพื้นที่ที่พบการขาดธาตุฟลูออไรด์  หรือในแหล่งน้ำในพื้นที่นั้นมีฟลูออไรด์ ในระดับต่ำ  ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันฟันผุด้วย
อย่างไรก็ตามก็อาจให้ไวตามินและแร่ธาตุเสริมในเด็กกลุ่มที่ได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ  เด็กที่เบื่ออาหาร   เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังบางชนิด  เช่น โรคตับ   และเด็กที่รับประทานมังสวิรัติและไม่ได้รับนมและผลิตภัณฑ์นมอย่างเพียงพอ  การให้ไวตามินเสริมแก่เด็กนั้น   ถ้าเด็กได้รับเกินขนาดจะทำให้เกิดการสะสม   โดยเฉพาะไวตามินชนิดที่ละลายได้ในไขมัน
3.      การประเมินภาวะโภชนาการในเด็ก
การประเมินสภาวะโภชนาการในวัยเด็ก ทำได้โดยวัดส่วนสูง และชั่งน้ำหนัก   แล้วนำมาเทียบกับเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต  ที่กรมอนามัยได้จัดทำไว้ เมื่อปี 2542  เป็นเครื่องชี้วัดถึงภาวะโภชนาการของประชากรไทย อายุตั้งแต่ 1 วัน ถึง 19 ปี  โดยดูแยกเด็กหญิงกับเด็กชาย    ช่วงอายุต่ำ  6 ปี   อายุ 2-7 ปี  และ อายุ 5-18 ปี 
น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ  แสดงการดูการเจริญเติบโตทางด้านน้ำหนัก   เป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะโภชนาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า น้ำหนักเหมาะสมกับอายุหรือไม่  ถ้าร่างกายขาดสารอาหารหรือเจ็บป่วย  จะมีผลกระทบต่อขนาดของร่างกาย  ทำให้น้ำหนักลดลง  และถ้าขาดอาหารระยะยาว  เด็กจะผอมและเตี้ย  น้ำหนักตามเกณฑ์อายุจึงนิยมใช้เพราะครอบคลุมปัญหาด้านการขาดสารอาหารโดยรวม และใช้กันแพร่หลายในทารก และเด็กวัยเรียน
ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ    แสดงการดูการเจริญเติบโตทางด้านความสูง  เป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะโภชนาการระยะยาวที่ผ่านมาว่า ส่วนสูงเหมาะสมกับอายุหรือไม่  ถ้าร่างกายขาดสารอาหารแบบเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน  จะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางโครงสร้าง  ทำให้เด็กเตี้ยกว่าเด็กในเกณฑ์วัยเดียวกัน 
น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง   แสดงถึงความอ้วน-ผอม  เป็นดัชนีบ่งชี้ว่าน้ำหนักเหมาะสมกับส่วนสูงหรือไม่  สามารถแปลผลภาวะโภชนาการได้โดยไม่ต้องทราบอายุเด็ก  ถ้าร่างกายขาดสารอาหารระยะสั้นในปัจจุบัน หรือเกิดเจ็บป่วย ร่างกายจะผอม  น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงจะมีค่าน้อยกว่าปกติ  แต่ถ้าได้รับอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย  น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง จะเป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะเมื่อเริ่มอ้วน หรืออ้วนได้ดีทีเดียว 

       การวัดภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่ามีปัญหาหรือไม่ จะได้สามารถจัดอาหารได้อย่างเหมาะสมสำหรับเด็ก
4.      สิ่งที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมการกินไม่เหมาะสม  ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จัก ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติการกินของเด็กก่อน
ประการที่หนึ่ง  พัฒนาการของเด็กจะเร็วในช่วงสองขวบปีแรก และมีอัตราช้าลงในช่วงวัยอนุบาลและวัยเรียน เมื่อเข้าวัยรุ่น ก็จะมีอัตราเร็วขึ้นอีก  ดังนั้นจะเห็นว่าช่วงเป็นทารก น้ำหนักจะขึ้นเร็วมาก แต่หลังหนึ่งขวบไปแล้ว อัตราการเพิ่มน้ำหนักจะเริ่มลดลง ก็จะพบว่า เด็กจะอยากกินอาหารน้อยลง และสนใจการเล่น และสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ความต้องการพลังงานจากอาหารนั้นยังคงมีสูง    เด็กจะใช้เวลาไปกับการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวจนบ่อยครั้งที่ลืมหิวไปเลย
ในช่วงนี้หากพ่อแม่ไม่เข้าใจและวิตกกังวลมากเกินไป ก็พยายามเคี่ยวเข็ญลูกให้กิน เครียดกันทั้งแม่ทั้งลูก  อันนี้คือการฝืนธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว  ส่วนตัวเด็กเองก็จะรู้สึกฝืนใจ อาจทำให้หงุดหงิด และมีปฏิกิริยาต่อต้านการรับประทานเกิดขึ้นได้
ประการที่สอง  เมื่อเด็กโตขึ้นมาระยะหนึ่งคืออายุประมาณ 2-4 ขวบ เด็กจะเข้าวัยต่อต้าน  เริ่มเป็นตัวของตัวเอง จะดื้อแทบทุกคน อยากทดสอบปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ว่าเวลาที่พูดคำว่า ไม่แล้วผู้ใหญ่จะทำอย่างไร ถ้าผู้ใหญ่ยอม หรือคะยั้นคะยอให้กิน หรือออกแนวขอร้อง  เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ว่าจะต่อรองกับพ่อแม่อย่างไร  เด็กจะยิ่งดื้อมากขึ้น
ประการที่สาม   ธรรมชาติการรับรสของคนเราไม่เหมือนกัน พ่อแม่ไม่ควรใช้ความรู้สึกหรือความชอบของตัวเองเป็นมาตรฐานในการตัดสินใจเรื่องการกินของลูก  จะสังเกตว่าเด็กจะไม่เลือกกินผัก เพราะมีรสไม่ถูกปากและมีแคลอรี่ต่ำ แต่เด็กจะชอบกินอาหารประเภทแป้งหรือไขมันที่มาในรูปของอาหารกรอบ ๆ ที่ทอดน้ำมัน ซึ่งมีแคลอรี่สูง  ดังนั้นจะบังคับให้เด็กกินผักมาก ๆ เด็กจะฝืนและต่อต้าน  นอกจากนี้ปริมาณอาหารที่เด็กแต่ละคนกินจะไม่เท่ากัน  พ่อแม่มักชอบเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น
ประการที่สี่   เรื่องของการเบื่ออาหารในเด็กนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ เด็กจะไม่กินไปสักมื้อ หรือบางมื้อกินได้น้อย  พ่อแม่ก็ควรจะกังวลเกินไป มื้อต่อไปเด็กก็จะกินชดเชยเอง ไม่ต้องไปขวนขวายหาอาหารเสริมพิเศษให้กิน  อีกอย่างความเครียดของพ่อแม่ ก็อาจส่งผลต่ออารมณ์ของเด็กได้  นอกจากนี้แล้วเวลาที่เด็กไม่สบายก็จะกินอาหารได้น้อยอยู่แล้ว อย่างเช่น เป็นไข้หวัด เด็กก็จะกินข้าวได้น้อยกว่าปกติ คนเป็นหวัดก็ย่อมเบื่ออาหารเป็นธรรมดา   หลังจากหายแล้วเขาก็จะสามารถกินได้ตามปกติ  ดังนั้นพ่อแม่ก็ไม่ควรเป็นกังวลเกินไป

ดังนั้นหากไม่เข้าใจธรรมชาติการกินของเด็กแล้ว  พ่อแม่ก็จะปฏิบัติต่อลูกในเรื่องการกินไม่เหมาะสม  จึงส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี  โดยสรุปสิ่งที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ได้แก่

1.      เด็กถูกพ่อแม่ยัดเยียดในเรื่องการกินมากเกินไป  คะยั้นคะยอมากเกินไป บางครั้งทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้าน เช่น การอมข้าว
2.      บริการและเลือกอาหารให้ลูกมากเกินไป  ทำให้เป็นคนเลือกกิน
3.      พ่อแม่บางคนชอบติดสินบนลูก  ถ้ากินข้าวแล้วจะให้รางวัล  ยิ่งถ้ารางวัลเป็นขนมหวาน ยิ่งแย่กันไปใหญ่
4.      พ่อแม่บางคนชอบใช้วิธีบังคับ ทำให้เด็กมีทัศนคติที่ไม่ดีในเรื่องของการกินอาหาร
5.      พ่อแม่บางคนให้ลูกกินตลอดเวลา จนทำให้เด็กไม่รู้ว่าหิวเป็นอย่างไร และไม่มีระเบียบวินัยในการกิน
6.      สำคัญที่สุดคือพฤติกรรมของพ่อแม่เอง  ทัศนคติของพ่อแม่ต่ออาหาร หรือนิสัยการบริโภคของพ่อแม่  พ่อแม่อาจเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้แก่เด็ก  เช่น ไม่กินผัก กินก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่ผักชี กับถั่วงอก เป็นต้น  ดังนั้นการเป็นตัวอย่างที่ดีของพ่อแม่นั้นสำคัญมาก
5.      ปัญหาโภชนาการเด็ก
การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้  โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ  ดังนั้นการรับประทานอาหารเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ก็ควรปลูกฝังกันตั้งแต่ในวัยเด็ก
สำหรับโรคโภชนาการในเด็กนั้นได้แก่
5.1   ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน 
ทราบกันดีว่าโรคอ้วนนั้นมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ  ไขมันในเลือดสูง   โรคข้อ  โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ  ตลอดจนปัญหาทางด้านจิตใจ
จากการศึกษาพบว่าเด็กอ้วนมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนในอนาคตมากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวปกติ สาเหตุของภาวะอ้วนในเด็กนั้นเกิดจากปัจจัยสำคัญสองอย่างคือ มีพฤติกรรมการกิน และการออกกำลังกายไม่เหมาะสม  กล่าวคือ กินมากเกินไป กินอาหารที่มีแคลลอรี่สูง กินผักผลไม้น้อย  ไม่ค่อยออกกำลังมีกิจกรรมที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายมาก  เช่น  ดูทีวี  เล่นเกมส์  เล่นคอมพิวเตอร์
การแก้ไขปัญหาตรงนี้นอกจากการปรับเปลี่ยนอาหารการกินแล้ว การให้ความรู้ การวางแผนการออกกำลังกาย และการให้ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนมีส่วนร่วม ก็จะให้เกิดผลสำเร็จมากขึ้น

5.2    น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน (Underweight)  
เด็กที่ผอมกว่าปกติอาจมีสาเหตุจากเป็นโรคเรื้อรัง ได้รับอาหารไม่พอหรือไม่อยากอาหาร หรือในเด็กหญิงโดยเฉพาะในช่วงอายุ 9-17 ปี อาจจะอดอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก ดังนั้นจึงควรแนะนำให้เด็กรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารและพลังงานที่เพียงพอ
5.3   การขาดเหล็ก (Iron deficiency)
 การขาดเหล็กพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี ในเด็กเล็กที่รับประทานนมเป็นส่วนใหญ่และรับประทานอาหารอื่นน้อยอาจได้รับเหล็กไม่พอ เด็กที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ อาจทำให้การดูดซึมเหล็กไม่ดีเนื่องจากเหล็กในเนื้อสัตว์จะอยู่ในรูป heme iron ซึ่งมีการดูดซึมที่ดีกว่าเหล็กในรูป non-heme iron ซึ่งมีอยู่ในพืชต่าง ๆ   ในทารกและเด็กที่ขาดเหล็กจะพบว่ามีการพัฒนาการเรียนรู้ช้า การเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กอาจทำได้โดยให้รับประทานอาหารที่มีกรดแอสคอร์บิคหรือไวตามินซีร่วมด้วย และควรให้เด็กรับประทานเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์ปีกเป็นประจำ
5.4   ฟันผุ (Dental caries)
เด็กอาจฟันผุได้จากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง หรือจากการรับประทานอาหารติดต่อกัน  พ่อแม่ควรหัดให้ลูกกินของหวานในปริมาณน้อย หรือให้กินร่วมกับอาหารอื่นที่มีรสไม่หวาน เพื่อช่วยลดการเกิดฟันผุ และควรให้ฟลูออไรด์เสริมแก่เด็ก นอกจากนั้นควรหัดให้เด็กรักษาอนามัยของช่องปาก หัดให้เด็กแปรงฟันอย่างถูกวิธี  และพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก  การมีฟันสมบูรณ์ก็ส่งผลต่อการกินอาหารเช่นเดียวกัน
6.      ถ้าลูกชอบกิน fast food พ่อแม่จะทำยังไงดี
fast food คืออะไร
คืออาหารจานด่วน ประเภทหนึ่งที่เน้นความสะอาด รวดเร็ว และง่ายต่อการบริโภค ทั้งนี้เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในเมืองใหญ่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นวิถีชีวิตที่เร่งรีบ อาหารเร่งด่วนจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่นี้   อาหารจานด่วนนี้ก็มี 2 แบบคือแบบตะวันตก กับแบบไทยๆ  ซึ่งก็ให้คุณค่าทางโภชนาการต่างกัน
อาหาร fast food แบบตะวันตก จะให้พลังงานจากไขมันและโปรตีนเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดให้บริโภค โดยเฉพาะไขมันที่ได้ จะมีปริมาณค่อนข้างสูง ประมาณร้อยละ 40-50 ของพลังงานทั้งหมด  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไขมันอิ่มตัว ในขณะที่ fast food แบบไทยเป็นอาหารที่ให้พลังงานจากไขมันและโปรตีนเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย  แต่ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจมักจะหมายถึง fast food แบบตะวันตกมากกว่า
ถ้าถามว่ากิน fast food บ่อย ๆ ดีไหม
ไขมันที่ได้จากอาหาร fast food แบบตะวันตก ส่วนใหญ่แล้วเป็นไขมันอิ่มตัว การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว โปรตีน และน้ำตาลในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกายโดยต่อเนื่องกันในระยะเวลานาน และเกินความสามารถของอวัยวะขับถ่ายที่จะกำจัดส่วนเกินของอาหารไปได้หมด ทำให้เกิดการสะสมส่วนเกินนั้นไว้ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า หน้าท้อง ขา แขน ทำให้เกิดโรคอ้วน และตามอวัยวะภายในร่างกาย เช่น สะสมไว้ที่หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ สะสมไว้ในตับ ไต ทำให้ตับไตทำหน้าที่ได้น้อยลง สะสมไว้บริเวณผนังลำไส้ ทำให้การดูดซึมของอาหารลดน้อยลง  เป็นต้น
ค่านิยมในหมู่เด็กและวัยรุ่นปัจจุบันพบว่าการกิน fast food คือ ความโก้เก๋ ทันสมัย ถ้าใครไม่กินเป็นคนเชย ไม่เข้ากลุ่มเพื่อน  พฤติกรรมการกินของเด็กลักษณะนี้อาจสร้างความหนักใจให้แก่พ่อแม่ เพราะนอกจากคุณค่าของอาหารประเภทนี้ไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกายแล้ว  ราคาก็ยังแพงอีกด้วย
เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ก็ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของลูก เช่น ไม่ปฏิเสธเมื่อลูกอยากกิน แต่ให้แนะนำให้เขากินอาหารแบบไทยๆ ในมื้อต่อไป อาจเป็นอาหารจานเดียวประเภทก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ข้าวคลุกกะปิ เย็นตาโฟ เป็นต้น             นอกจากนี้ในวันหยุดควรมีการกินอาหารที่เป็นสำรับรวมกัน ให้มีอาหารครบทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ซึ่งอาจจะช่วยทำกันคนละไม้คนละมือ นอกจากจะได้คุณค่าทางอาหารที่ครบแล้วยังช่วยเพิ่มความสนิทสนมและความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวอีกด้วย  
นอกจากนี้ก็ค่อยๆ ให้ความรู้แก่เขา ในเรื่องของผลดีผลเสียจากการมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะโรคอ้วน เชื่อว่าเด็กจะค่อย ๆ เข้าใจและเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็จะรู้จักระมัดระวังตัวเอง เพราะเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่จะกลัวอ้วนกันอยู่แล้ว
การกินอาหาร fast food บ้างเป็นครั้งคราวก็คงไม่เป็นไร แต่ไม่ควรบ่อยนัก และควรสั่งสลัดมากินด้วยเพื่อเสริมคุณค่าทางอาหาร  อย่างไรก็ดีการกินอาหารที่หลากหลายหมุนเวียนจะทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน และลดความเสี่ยงต่อพิษภัยที่อาจปนเปื้อนมาในอาหารได้
7.      ทำยังไงจะสร้างนิสัยการกินที่ดีให้กับเด็ก
การจะให้ลูกมีนิสัยการกินที่ดี ต้องฝึกมาตั้งแต่ในวัยเด็ก คือเมื่อเด็กเกิดมาต้องการกินนมแม่ พอถึงวัยอันควรก็ต้องกินอาหารเสริม  ถ้าเราฝึกให้เด็กมีโอกาสช่วยเหลือตนเอง โดยเฉพาะในช่วง 7-8 เดือน ซึ่งเด็กนั่งได้ ให้เด็กหยิบอาหาร เข้าปากเองบ้าง  เด็กจะมีพฤติกรรมในการช่วยเหลือตัวเอง
เมื่อย่างเข้าขวบครึ่ง เด็กจะเริ่มมีความรู้สึกพึ่งตนเอง สามารถตักอาหารเข้าปากเองได้ พอเด็กโตขึ้นก็ฝึกให้กินอาหารที่มีประโยชน์ มีไวตามินแร่ธาตุจากผัก เด็กอาจจะยังไม่ทราบว่าไวตามินคืออะไร แต่ถ้าเราพูดบ่อย ๆ เด็กจะเริ่มจำและเรียนรู้ ว่ากินผักแล้วแข็งแรงมีไวตามิน
นอกจากการฝึกเด็กให้กินอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนแล้ว สิ่งที่ต้องไม่ลืมฝึกเด็กควบคู่ไปกับการกินคือ นิสัยหรือการปฏิบัติในการกิน ควรสอนให้เด็กกินอย่างประหยัด การตักข้าวควรตักแต่พอกิน หากไม่อิ่มให้ตักใหม่ และควรกินให้หมดจาน 
นอกจากนี้ยังต้องเอาใจใส่ในเรื่องให้เด็กกินอย่างถูกสุขอนามัยด้วย  ได้แก่ ล้างมือและภาชนะให้สะอาด สอนให้เด็กรู้ หรือเกิดความเคยชินว่า เมื่อถึงเวลากินอาหาร หรือกินอะไรล้วนแล้วต้องล้างมือ เมื่อทำได้เช่นนี้ เด็กจะเกิดนิสัยการกินที่ดี มีประโยชน์ ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ไหน จะไม่มีปัญหาเรื่องกิน ที่สำคัญต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ และต้องทำอย่างต่อเนื่องเสมอต้นเสมอปลาย
อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็กเราควรเลือก อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเด็กเพื่อให้เค้าได้เจริญเติบตัวอย่างสมวัย
รายการคลินิก   101.5
โดย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ติดตาม