วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

นิทานคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

         นิทาน นับได้ว่าเป็นอาหารสมองสุดโปรดปรานของเด็กทุกคน แต่ทักษะคณิตศาสตร์อาจเป็นยาขมสำหรับเด็กบางคน ทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กมีทัศนคติต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์ว่าไม่ได้เป็นยาขม แต่เป็นขนมสำหรับสติปัญญา วิธีการส่งเสริมและพัฒนาจึงต้องเป็นวิธีการที่เด็กชอบและสนใจ
          นิทานจึงเป็นเครื่องมือที่ครูปฐมวัยหยิบยกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ที่ช่วยทำให้ผู้เรียนสนุกไปกับการเรียนรู้ การมองภาพ นับภาพ ทำให้เด็กเกิดประสบการณ์จากการมองเห็น และจะถูกบันทึกเป็นฐานข้อมูลไว้ในสมอง ซึ่งประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดประสบการณ์ทางคณิตศาตร์ให้เด็กปฐมวัย ต้องเริ่มต้นจากง่ายไปหายาก เปรียบเสมือนการขึ้นบันได ต้องเริ่มจากขั้นตำไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น


นิทานเรื่อง คุณหนึ่งชวนนับ
( ผู้แต่ง  นาถศจี สงค์อินทร์ )

                        สวัสดีเด็กดี น่ารัก                          คุณเลขหนึ่งทายทัก จำฉันได้ไหม
            เลขหนึ่งมีจำนวนเท่าใด                               นั่นยังไงหนูลองนับดู
            กระต่าย 1 ตัวกินผัก                                   ช้างน้อยน่ารัก 1 ตัวกินกล้วย
            ปลาแสนสวย  1 ตัวว่ายมา                          หึ่ง หึ่ง บนฟ้า  ผึ้งน้อย 1 ตัว
                        เลขหนึ่งมีจำนวนหนึ่ง                     ถ้าหนูนับหนึ่งหนูต้องรู้ค่า
            นับหนึ่งชู 1 นิ้วขึ้นมา                                  ใครทำได้มารับดาว 1 ดวง 
                       
                                                          นิทานเรื่อง คุณสองชวนนับ
( ผู้แต่ง  นาถศจี สงค์อินทร์ )

                        สวัสดีเด็กดี น่ารัก                            คุณเลขสองทายทัก จำฉันได้ไหม
            เลขสองมีจำนวนเท่าใด                                 นั่นยังไงหนูลองนับดู
            ปูก้ามโต 2 ตัวชูก้าม                                    ปลาฉลาม 2 ตัวเวียนว่าย
            ม้าน้ำ 2 ตัวว่องไว                                       เจ้ากระดองลายเต่าน้อย 2 ตัว
                        เลขสองมีจำนวนสอง                       ถ้าหนูนับสองหนูต้องรู้ค่า
            นับสองชู 2 นิ้วขึ้นมา                                   ใครทำได้มารับดาว 2 ดวง 

  
นิทานเรื่อง คุณสามชวนนับ
( ผู้แต่ง  นาถศจี สงค์อินทร์ )
                        สวัสดีเด็กดี น่ารัก                          คุณเลขสามทายทัก จำฉันได้ไหม
            เลขสามมีจำนวนเท่าใด                                นั่นยังไงหนูลองนับดู
            ผีเสื้อ 3 ตัวแสนสวย                                   แมลงปอมาด้วย 3 ตัวบินว่อน
            หนอนน้อย 3 ตัวง่วงนอน                            กบหนีร้อนกระโดดน้ำ 3 ตัว
     เลขสามมีจำนวนสาม                     ถ้าหนูนับสามหนูต้องรู้ค่า
            นับสามชู 3 นิ้วขึ้นมา                                 ใครทำได้มารับดาว 3 ดวง 

                                                             นิทานเรื่อง คุณสี่ชวนนับ
( ผู้แต่ง  นาถศจี สงค์อินทร์ )

                        สวัสดีเด็กดี น่ารัก                            คุณเลขสี่ทายทัก จำฉันได้ไหม
            เลขสี่มีจำนวนเท่าใด                                   นั่นยังไงหนูลองนับดู
                         ดอกไม้ 4 ดอกสีสด
มด 4 ตัวเดินเป็นแถว
เหมียว เหมียว 4 ตัวเจ้าลูกแมว
นั่งตาแป๋ว ลูกหมา 4 ตัว
      เลขสี่มีจำนวนสี่                               ถ้าหนูนับสี่หนูต้องรู้ค่า
            นับสี่ชู 4 นิ้วขึ้นมา                                        ใครทำได้มารับดาว 4 ดวง 

  
นิทานเรื่อง คุณห้าชวนนับ
( ผู้แต่ง  นาถศจี สงค์อินทร์ )

                        สวัสดีเด็กดี น่ารัก                            คุณเลขห้าทายทัก จำฉันได้ไหม
            เลขห้ามีจำนวนเท่าใด                                นั่นยังไงหนูลองนับดู
                         ส้มเขียวหวาน 5 ผลสีส้มสด
สับปะรด 5 หัวรสเปรี้ยวหวาน
มังคุด 5 ผลอยู่ในจาน
แตงโมหวาน 5 ชิ้นกินชื่นใจ
     เลขห้ามีจำนวนห้า                      ถ้าหนูนับห้าหนูต้องรู้ค่า
นับห้าชู 5 นิ้วขึ้นมา                               ใครทำได้มารับดาว 5 ดวง

****หวังว่าคงเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ต่อผู้สนใจที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน 1-5 ให้เด็ปฐมวัยได้เรียนรู้อย่างสนุกและมีความสุขกับการเรียนรู้นะคะ

การพัฒนาทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์เด็กปฐมวัย

คณิต   หมายความถึง   การนับ  การคำนวณ  คณิตศาสตร์   หมายถึง วิชาว่าด้วยการคำนวณ  หรือวิชาที่ว่าด้วยการคิดเลข  ( ราชบัณฑิตยสถาน, 2542 : 214)  คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย  แตกต่างจากวิชาคณิตศาสตร์   ในระบบการเรียนการสอนของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เพราะ  การจัดการศึกษาปฐมวัยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ  คือการอบรมเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี ให้มีความพร้อมในพัฒนาการทั้ง  4  ด้าน  คือ  ด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยองค์รวม และหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546  ได้กำหนดประสบการณ์สำคัญด้านสติปัญญา  ซึ่งผู้ศึกษาขอกล่าวเฉพาะเรื่อง  จำนวน  และหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย  สถานศึกษาอนุบาลสุพรรณบุรี        ได้กำหนดสภาพที่พึงประสงค์ในมาตรฐานที่ 10  ตัวบ่งชี้ที่ 1 บอกหรือแสดงค่าจำนวน 1 – 5  ความสำคัญและความจำเป็น  ต่อการพัฒนาทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์เด็กปฐมวัย เพราะเป็นเรื่อง  ใกล้ตัวเด็ก และปรากฏให้เห็นอยู่รอบตัวเด็กในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เด็กจึงควรได้รับการพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้   เช่น  การดูวันที่ในปฏิทิน  ดูเวลาบนหน้าปัดนาฬิกา    เลขที่บ้าน หมายเลขโทรศัพท์  การเลือกชมรายการในทีวีช่องต่างๆ การซื้อ การขาย ฯลฯ
        นักการศึกษา  แวน เดอ เวล  (van De Walle, 1944    อ้างถึงใน  นภเนตร  ธรรมบวร, 2544 : 69 – 75)   กล่าวว่า    ขณะที่เด็กสำรวจโลกรอบตนเอง   เด็กจะวางรากฐานคณิตศาสตร์ไปพร้อม ๆ กันการเรียนคณิตศาสตร์  จำเป็นต้องมีความหมายกับตัวเด็ก  กล่าวคือ  ครูควรส่งเสริมให้เด็กสำรวจ     ให้เหตุผล  และคิดแก้ปัญหามากกว่าการเรียน โดยการจำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์เท่านั้น    เด็กจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจคณิตศาสตร์โดยการคิดด้วยตนเอง และค้นหาคำตอบซึ่งมีความหมายสำหรับตัวเขา
                        นักการศึกษา คาร์เพนเตอร์ (Carpenter, 1985)   กล่าวว่า  งานวิจัยทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบันมุ่งเน้นวิธีการ ซึ่งกระตุ้นให้เด็กสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่ง  ที่ครูสามารถส่งเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็ก คือ การเปิดโอกาสให้เด็กอภิปราย สนทนา พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาทางคณิตศาสตร์
            สุวิมล   อุดมพิริยะศักย์ (2547 : 171-172)  กล่าวไว้ว่า  เรื่องของคณิตศาสตร์นั้น  ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ใหญ่บางคน  เพราะเหตุนี้ความคิดที่ว่าจะนำเอาความรู้  เกี่ยวกับคณิตศาสตร์หรือการคิดคำนวณ     มาให้เด็กที่จัดกลุ่มไว้เพื่อการเล่น   ได้เรียนรู้บ้างจึงไม่ใช่เรื่องง่าย  ความจริงแล้วการคิดคำนวณที่ว่านั้นไม่ใช่การบวกลบ  แต่คณิตศาสตร์ทำให้เด็กรับรู้เกี่ยวกับเรื่องของการจำแนกของออกเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะ   หรือขนาดของมันเท่านั้น   เพราะสิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับ ชีวิตประจำวันของเด็กมาก  ในแง่ของคณิตศาสตร์นั้น  ของที่นำมาให้เด็กเล่นจะจัดเป็นหมวดหมู่ 
เช่น  การจัดลูกปัดไว้กล่องหนึ่ง  และจัดดินสอสีไว้อีกกล่องหนึ่ง  เป็นต้น
        ในชีวิตประจำวันของเรา  แนวคิดทางคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยตลอดเวลา  เช่นเรื่องของรูปของร่าง ขนาด  ปริมาณ  และเวลา  ครูผู้ควบคุมศูนย์จะต้องพยายามสอนให้เด็กมีทักษะในการคิดจำนวน  เช่น  ดอกไม้สองดอกรวมกับไม้อีกสองดอกจะได้เป็นสี่ดอก  2 + 2 = 4  เป็นต้นครูจะต้องเน้นในแง่ของจำนวนให้เด็กได้เห็นจริง ๆ  ไม่ใช่บอกตัวเลขบนกระดานดำโดยให้เด็กคิดเอง  แต่ไม่ได้สัมผัสสิ่งของ
                        คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546 ได้ให้แนวทางการพัฒนาการทางคณิตศาสตร์ ไว้ดังนี้
                พัฒนาการทางคณิตศาสตร์ 
                        ขั้นที่  1 (2-3 ปี)  เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับจำนวนเมื่อมีโอกาสได้ยินได้ฟังผู้อื่นใช้  หรือเริ่มเข้าใจจำนวนจากการมีโอกาสเล่น  จับต้องวัตถุสิ่งของต่าง ๆ  ด้วยตนเอง  หรือเล่นต่อภาพที่ชิ้นส่วนของภาพมีขนาดใหญ่  เริ่มรู้จักรูปทรงเรขาคณิต  เช่น  รูปทรงกลม
                        ขั้นที่  2  (3-4  ปี)  รู้จักปริมาณมาก  มากกว่า  เริ่มคุ้นเคยกับรูปทรงเรขาคณิตของสิ่งต่าง ๆ  ที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก  รู้จักจัดกลุ่มสิ่งของตามคุณลักษณะต่าง ๆ  รู้จักนับ  1-5  เปรียบเทียบความเหมือนความต่างหรือใช้คำอธิบายปริมาณ  ความยาว  ขนาด
                        ขั้นที่  3  (4-5  ปี)  เข้าใจและเล่นเกมที่เกี่ยวกับจำนวน  นับสิ่งของ  1-10   และบางครั้งถึง  20  จัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ  ตามรูปทรงเปรียบเทียบขนาดของสิ่งต่าง ๆ
                        ขั้นที่  4  (5-6  ปี)  เริ่มเข้าใจความคิดรวบยอดในรูปของสัญลักษณ์  นับสิ่งของจำนวน  20  และอาจมากกว่านี้  จำแนกสิ่งของตามคุณลักษณะได้มากกว่า  2  คุณลักษณะ
                        (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2547 : 133)
        และดร.ธรรมนูญ  นวลใจ  ได้ให้แนวทางการนับเลข ไว้ดังนี้
  •         พัฒนาการด้านการนับเลขเริ่มนำตัวเลขมาใช้  เป็นส่วนหนึ่งของคำพูดในชีวิตประจำวันนานมาแล้ว  ก่อนที่เด็กจะเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียอีกว่า   ตัวเลขเหล่านั้นมีความหมายว่าอะไร  เมื่ออายุได้  3  ขวบ  เด็กชี้ไปที่สิ่งของและพยายามนับจำนวนของเหล่านั้น  แต่เขาจะไม่มีวันนับมันได้ถูกต้อง (นอกเสียจากว่า  เขาจะโชคดีในการเดา)
  •         ขั้นตอนต่อไปของพัฒนาการด้านตัวเลข   จะอยู่ในช่วงอายุประมาณ  3  หรือ  4  ขวบ  เริ่มจับคู่สิ่งของที่แตกต่างกัน  แต่มีจำนวนเท่ากันได้   ตัวอย่างเช่น  นำกล่องไม้กล่องเล็ก ๆ  สีน้ำเงิน  4  ใบ  สีเหลือง  4  ใบ  สีเขียว  4  ใบและ  สีดำ  6  ใบ  มาให้ลูกชี้ไปที่กลุ่มกล่องไม้สีน้ำเงิน  แล้วขอให้เด็กหากล่องไม้กลุ่มอื่นที่มีจำนวนเท่ากัน  ความสามารถในการเลือกกลุ่มกล่องไม้ได้ถูกต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า  มีความเข้าใจในจำนวนตัวเลขที่แสดงอยู่ในรูปปริมาณของสิ่งของ  และจำนวนตัวเลขกับปริมาณของสิ่งของนั้นก็มีจำนวนเท่า ๆ  กัน
  • ขั้นตอนต่อไปของพัฒนาการด้านตัวเลขคือ  การที่รู้ความจริงว่า   จำนวนตัวเลขเกิดมาจากการเรียงลำดับที่แน่นอน  เด็กมักทึกทักเอาเองว่าเป็นเพราะรู้ว่าเลข  3  ต่อจากเลข  2  ต่อจากเลข  1  ฯลฯ  (ซึ่งมันเป็นสิ่งปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน)  แต่สำหรับเด็ก เด็กจำเป็นต้องได้เรียนรู้เสียก่อน  เพราะมันไม่ได้ปรากฏให้เห็นได้เลยในทันที  ควรเรียนรู้ลำดับตัวเลขตั้งแต่  1- 5  ก่อนที่จะเรียนรู้ลำดับอื่น ๆ  ต่อไป        ในขั้นตอนนี้เริ่มเข้าใจภาษาของตัวเลข  เช่น  ใหญ่/เล็ก  มาก/น้อย  เด็กวัย  3  ขวบ  สามารถเปรียบเทียบขนาดง่าย ๆ  ได้  ตัวอย่างเช่นยื่นแก้วน้ำผลไม้ใบใหญ่และใบเล็กให้และขอให้ชี้ไปที่แก้วน้ำผลไม้ใบใหญ่  เด็กควรสามารถแยกความแตกต่างระหว่างแก้ว  2  ใบได้โดยไม่ยากนัก 
                                     เมื่อเด็กอายุได้  4  ขวบ  จะก้าวสู่ขั้นแรกของการนับตัวเลขด้วยความรอบคอบ  ตัวอย่างเช่น  นำของที่เหมือนกัน 3 - 4 ชิ้น  มาวางไว้หน้าเด็ก  เช่น  ลูกอม  3-4  เม็ด  จากนั้นขอให้นับจำนวนของออกมาดัง ๆ  และชี้ไปที่ของแต่ละชิ้นขณะที่นับด้วยอาจจะนับมันจนครบได้อย่างถูกต้อง
            เด็กควรรู้จักตัวเลขได้ตั้งแต่  1 - 10  หรือบางทีอาจถึง  20  สามารถนับเลขได้  อย่างน้อยตั้งแต่  1 - 7  และรู้ระยะเวลาที่แตกต่างกันของแต่ละวัน  (ดร.ธรรมนูญ  นวลใจ,  2541 : 138-139)

                                   สรุป
                          การเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์จนถึงกระบวนการจัดการสอนการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์เริ่มด้วยการรู้จักการนับปากเปล่า   นับเรียงลำดับตัวเลข  นับจำนวน  รู้ค่า   รู้จำนวน   นับเพิ่ม   และนับลด

อ้างอิง แหล่งข้อมูล
กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์  คุรุสภาลาดพร้าว.
ธรรมนูญ  นวลใจ.  ดร.  (2541).  หัวใจแห่งการศึกษาสำหรับเด็กวัย  1 5  ขวบ.  กรุงเทพฯ :  สำนักพิมพ์คำแก้ว. 
าชบัณฑิตยสถาน.  (2546).  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน  พ.ศ.  2542.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์.  
สุวิมล  อุดมพิริยะศักดิ์.  (2547).  การดูแลและการเรียนรู้  และการเล่นของเด็กเล็ก.  กรุงเทพฯ : บริษัทตาวันพับลิชชิ่งจำกัด.

นิทานพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์เด็กปฐมวัย

การเตรียมความพร้อมด้านทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นสิ่งสำคัญที่ครูผู้สอนต้องจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก เนื่องจากเป็นวิชาบังคับที่เด็กต้องเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา ธรรมชาติของการเรียนรู้ทักษะคณิตศาสตร์ ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนจากง่ายไปสู่ยาก โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องจำนวน หากเด็กยังไม่เข้าใจความหมายของจำนวน เด็กก็ไม่สามารถเรียนรู้ทักษะอื่นๆที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การบวก ลบ ต่อไปได้ ดังนั้นการพัฒนาทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยให้รู้ค่ารู้จำนวน จึงเป็นสิ่งที่ครูจะละเลยไม่ได้  สิ่งที่ครูต้องตระหนักอย่างมากประการหนึ่งคือ จะใช้นวัตกรรมหรือวิธีการใดที่จะทำให้เด็กเกิดทักษะคณิตศาสตร์ได้อย่างเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ขั้นตอนแรกเด็กต้องเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ให้เด็กได้หยิบจับ นับสิ่งของรอบๆตัว และต้องทำซ้ำๆสม่ำเสมอ เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้จำนวนโดยการสัมผัสของจริงแล้ว ก็สามารถเริ่มให้เด็กได้ฝึกทักษะในรูปแบบที่เป็นนามธรรมได้บ้าง เช่น การใช้ภาพเป็นสื่อแทนของจริง
              จากประสบการณ์การเป็นครูปฐมวัยมานาน พบปัญหาด้านการไม่รู้ค่าจำนวนของเด็กอยู่เสมอ จึงได้ศึกษาวิเคราะห์หาสาเหตุและได้สร้างชุดกิจกรรม  BBL     ( Brain – Based Learning  ) พัฒนาทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์เด็กปฐมวัย การรู้ค่าจำนวน 1-5  เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ชุดกิจกรรมและกระบวนการชุดนี้ออกแบบโดยใช้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสมองเป็นฐานข้อมูล BBL ( Brain – Based Learning )  ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้  และสร้างชุดกิจกรรม  เพื่อพัฒนาด้านสติปัญญาโดยให้เด็กมีประสบการณ์สำคัญเรื่อง  จำนวน  และสภาพที่พึงประสงค์  เกี่ยวกับการรู้ค่าจำนวน  1- 5  สนองตอบต่อความสามารถและความถนัดในการใช้สมองที่มีต่อการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าของแต่ละบุคคล  โดยการฝึกให้ปฏิบัติซ้ำ ๆ ประกอบด้วยกระบวนการใช้กิจกรรม 4 ขั้นตอน
1) ขั้นสร้างความสนใจ กิจกรรมที่ใช้  เพลง,  เกม/การเคลื่อนไหวประกอบเพลง,
การเล่นบทบาทสมมติประกอบเพลง
2) ขั้นให้ประสบการณ์ กิจกรรมที่ใช้  การเล่านิทานประกอบภาพ,  การนิทานประกอบแผ่นป้ายสำลี,  การเล่านิทานประกอบการแสดงท่าทาง
3)      ขั้นปฏิบัติงานฝึกทักษะ  กิจกรรมที่ใช้  เกมการศึกษา,  แบบฝึกทักษะ,  หนังสือเล่ม
เล็ก,กิจกรรมศิลปะ
4)      ขั้นประเมินผลการเรียนรู้  ( การประเมินพัฒนาการทางสติปัญญา) กิจกรรมที่ใช้แบบประเมินผลการเรียนรู้

          ในส่วนของนิทาน จากการศึกษาพบว่า เด็กชอบสื่อประเภทนิทาน และผลจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเด็กชอบนิทานประเภทคำคล้องจอง เพราะมีภาษาและเสียงที่มีคำสัมผัสคล้องจอง ทำให้เด็กเพลิดเพลิน และง่ายต่อการจดจำ นำไปพูดต่อได้
           
          ตัวอย่างนิทานในชุดกิจกรรมที่ 1 ตัวเลขสวัสดี

นิทานเรื่อง ตัวเลขสวัสดี
( ผู้แต่ง  นาถศจี สงค์อินทร์ )

                   สวัสดีเด็กน้อยน่ารัก                        ใครรู้จักช่วยบอกฉันที
ว่าตัวฉันนี้ชื่อเลขอะไร
            ใช่แล้ว ใช่แล้วคนเก่ง                       ตัวฉันเองชื่อเลข หนึ่งไง
เด็กๆจำหน้าฉันไว้                                       ฉันเลข หนึ่งไง สวัสดี สวัสดี
สวัสดีเด็กน้อยน่ารัก                        ใครรู้จักช่วยบอกฉันที
ว่าตัวฉันนี้ชื่อเลขอะไร
            ใช่แล้ว ใช่แล้วคนเก่ง                       ตัวฉันเองชื่อเลข สองไง
เด็กๆจำหน้าฉันไว้                                       ฉันเลข สองไง สวัสดี สวัสดี
สวัสดีเด็กน้อยน่ารัก                        ใครรู้จักช่วยบอกฉันที
ว่าตัวฉันนี้ชื่อเลขอะไร
            ใช่แล้ว ใช่แล้วคนเก่ง                       ตัวฉันเองชื่อเลข สามไง
เด็กๆจำหน้าฉันไว้                                       ฉันเลข สามไง สวัสดี สวัสดี
สวัสดีเด็กน้อยน่ารัก                        ใครรู้จักช่วยบอกฉันที
ว่าตัวฉันนี้ชื่อเลขอะไร
            ใช่แล้ว ใช่แล้วคนเก่ง                       ตัวฉันเองชื่อเลข สี่ไง
เด็กๆจำหน้าฉันไว้                                       ฉันเลข สี่ไง สวัสดี สวัสดี
สวัสดีเด็กน้อยน่ารัก                        ใครรู้จักช่วยบอกฉันที
ว่าตัวฉันนี้ชื่อเลขอะไร
            ใช่แล้ว ใช่แล้วคนเก่ง                       ตัวฉันเองชื่อเลข ห้าไง
เด็กๆจำหน้าฉันไว้                                       ฉันเลข ห้าไง สวัสดี สวัสดี
            เรียนรู้เลขหนึ่งถึงห้า                       ว่าหน้าตาฉันเป็นอย่างนี้
เด็กๆช่วยนับอีกที                                       หนึ่งถึงห้านี้นับพร้อมๆกัน
1….     2 ….    3 ….    4 ….    5 ….

***สำหรับครูปฐมวัยสามารถนำไปจัดกิจกรรมให้กับเด็กได้***

ผู้ติดตาม