วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

พัฒนาการของเด็กอายุ 3-4 ขวบ

ด้านร่างกาย
เด็กผู้ชาย ส่วนสูง 96-114 ซม./ น้ำหนัก 13.5-20.5 ก.ก.
เด็กผู้หญิง ส่วนสูง 94-114 ซม./ น้ำหนัก 13-20 ก.ก.
การพูด
ก่อนหน้านี้เด็กจะใช้ความรู้สึกในการแลกเปลี่ยนหรือเรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการ แต่ต่อไปนี้ เขาจะต้องหันมาใช้ภาษากับคนอื่นๆ แทน เด็กในวัยนี้จะเข้าใจว่า คนในโลกส่วนใหญ่ใช้คำพูด เป็นเครื่องสื่อความหมาย โดยไม่ใช้การออกท่าออกทาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการ ในทางภาษาสำหรับเด็ก
ในช่วงนี้ เด็กจะเริ่มรู้จักคำเช่น "แหลม หรือคม" หรือ "ร้อน" แต่การพูดยังขาดการเน้นเสียง และยังปะปนในเรื่องภาษากับประสบการณ์ที่ตนได้รับ
หรืออย่างการเข้าใจความหมายของคำว่า ข้างบน-ข้างล่าง, ข้างหน้า-ข้างหลัง, นำหน้า-ตามหลัง, ข้างหน้านั้น-ข้างหลังนั้น เพราะเด็กได้เรียนรู้มาจากการคลาน การโยนสิ่งของออกไป การมองกลับมาข้างหลัง การเดินไปข้างหน้า หรือการเล่นซ่อนหา โดยไม่ได้ใช้ความรู้สึก แต่เป็นการใช้ร่างกาย
เข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน เช่น การกางมือกางแขนออกทำเป็นยักษ์ตัวใหญ่ หรือทำตัวหดเล็ก เหมือนหนูตัวเล็กๆ รู้จักปิดประตูเสียงดังหรือปิดอย่างแผ่วเบา เด็กจะรู้จักการเรียกชื่อและนามสกุลของตัวเอง เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้
รู้จักคำพูดแสดงพหูพจน์ เพราะเด็กมีประสบการณ์กับของที่มีปริมาณมากขึ้น เช่น แท่งไม้หลายอัน แท่งไม้สองสามอัน ในช่วงนี้เด็กจะรู้จักการปฏิบัติตามอย่าง เช่น การหมุนประตู เราต้องจับที่ลูกบิดประตู แล้วหมุนเป็นวงกลมแล้วปิด-เปิดประตูได้
รู้จักการเรียบเรียงประโยค และมีความแตกฉานทางภาษามากขึ้น โดยที่เด็กจะเลียนแบบ การใช้ภาษาจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่ โดยที่เด็กจะเลียนแบบการใช้ภาษาจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่ หากพ่อแม่ใช้ภาษาที่ถูกต้องไพเราะ ลูกก็จะพูดได้ดีเช่นเดียวกัน แต่ถ้าพูดจาสบถสาบาน ด่าพ่อล่อแม่จนติดปาก เขาก็จะจดจำไปใช้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะต้องพูดภาษาที่สมบูรณ์แบบ เหมือนภาษาเขียนเป๊ะ แต่ควรจะใช้สรรพนาม กริยา คุณศัพท์ ฯลฯ ให้ถูกต้อง เพื่อลูกจะได้คุ้นและเข้าใจง่าย
อย่างไรก็ตาม บางครั้งเด็กเล็กๆ ที่กำลังย่างเข้าสู่พัฒนาการด้านภาษา โดยเฉพาะเด็กวัย 2 ขวบครึ่ง ถึง 4 ขวบ อาจจะพูดไม่ค่อยออกและมักจะเงียบ ซึ่งอาจเป็นเพราะความคิดของเด็กเร็วกว่าความสามารถ ในการใช้คำศัพท์ แต่พ่อแม่ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินเหตุ อาการเช่นนี้จะหายไป เมื่อสมองส่วนที่ใช้บังคับการพูดเติบโตและพัฒนาเต็มที่ คุณพ่อคุณแม่อย่าพยายามเร่งรัดอาการเงียบของลูก เพราะอาจทำให้เด็กกลายเป็นคนเงียบตลอดไปก็ได้
การอ่าน
เด็ก 3-4 ขวบ พร้อมแล้วที่จะเรียนการอ่าน โดยจะแสดงสัญญาณของความพร้อมนี้ออกมา ให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เขาจะรักหนังสือ ดีใจที่ได้หยิบจับและดูรูปในหนังสือ เขาจะถามถึงความหมาย ของสัญลักษณ์ สลาก หรือป้ายต่างๆ เขาอยากจะเขียนชื่อตัวเอง สนใจรูปภาพ และมีคำพูดแปลกๆ ใหม่มากเกินกว่าที่จะจดจำได้
ความชอบหนังสือนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้จะได้รับการกระตุ้นเพียงน้อยก็ตาม ถ้าเป็นไปได้พ่อแม่ควรสอนให้ลูกอ่านหนังสือ หรืออ่านให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ เพราะการสอนให้ลูกอ่านหนังสือก่อนนอน จะช่วยให้เขาได้พักผ่อนและอยากเข้านอนด้วยความสุข และยังเป็นการสร้างนิสัยการคุยกันอย่างสันติ ซึ่งจะหาโอกาสอย่างนี้ได้ยากมากหากลูกพ้นวัยนี้ไปแล้ว
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกซื้อหนังสือของตนเองเมื่อมีโอกาส แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ ที่มีขายตามซูเปอร์มาเก็ตก็ตาม
พัฒนาการทางสังคม
เด็กในวัยนี้จำนวนมากที่โตพอที่จะเข้าโรงเรียนได้แล้ว ซึ่งเด็กจะรู้จักการแยกจากพ่อแม่ เพราะถึงเวลาที่เขาควรมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเองเพราะเขาโตพอจะรับทราบกฎเกณฑ์ในหมู่คณะ และสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้นๆ ได้ เช่น กลุ่มเพื่อนที่เล่นด้วยกัน แสดงว่าเด็กเรียนรู้ ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้เด็กจะมีความผูกพันกับบุคคลอื่น เช่น ครูที่โรงเรียนอนุบาล หรือการติดต่อสัมพันธ์ กับเด็กคนอื่นที่อยู่ในวัยเดียวกัน
เด็กจะรู้จักคำว่า "เรา" "ของเรา" และ "ของเธอ" "ของฉัน" และ "ของพวกเขา" เพราะเด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะแยกคนอื่นๆ จากครอบครัวของตน
การเล่น
เด็กวัย 3-4 ขวบ นี้จะสนุกสนานกับการได้ฝึกการทรงตัว เช่น การวิ่งบนทางแคบๆ ทรงตัวบนท่อนไม้ หรือกำแพงเล็กๆ เตี้ยๆ และจะมีพัฒนาการทรงตัวในการเล่นได้ดีขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นที่สามารถหัดถีบจักรยานได้
ในการเล่น เด็กมักชอบเลียนแบบจากสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวเอง เช่น การหุงหาอาหารด้วยถ้วย จาน ทัพพี และส้อม เหมือนกับที่แม่ทำ หรือใช้ค้อนตอกสิ่งของ เช่นเดียวกับที่พ่อทำ เด็กจะสนุกสนานกับการเอาของที่พ่อแม่ใช้มาเป็นของเล่นของตัวเอง เช่น จะสนุกกับการเล่นโทรศัพท์จริงๆ มากกว่าโทรศัพท์ที่เป็นเพียงของเล่น
เมื่ออยู่ที่โรงเรียน เด็กๆ ก็ยังคงสนุกสนานกับการเล่น "เลียนแบบ" เช่น การปั้นดินน้ำมันให้เป็นขนมชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยมือทั้งสองข้างโดยใช้อุ้งมือด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะนิ้วเท่านั้น
เด็กยังคงฝึกฝนการต่อแท่งไม้รูปต่างๆ เป็นการฝึกสมดุล เช่น พยายามที่จะต่ออะไรขึ้นมาสักอย่าง โดยใช้สมดุลเข้าช่วย มากกว่าที่จะเล่นของที่เป็นชิ้นเป็นอันแต่ทั้งหมดที่เด็กสร้างขึ้นนั้น ก็ขึ้นกับผู้ใหญ่ที่จะให้คำชมเชยและความคิดที่ส่งเสริม
การฉีดวัคซีน
3 ขวบ ฉีดกระตุ้นไทฟอยด์
4-6 ขวบ ฉีดกระตุ้นคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และกินป้องกันโปลิโอ (ครั้งที่ 5)
สัมพันธภาพระหว่างเด็กกับพ่อแม่
วัย 1-2 ขวบที่ผ่านมาเด็กจะให้ความสนใจตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ครั้นถึงช่วง 3-4 ขวบนี้ เด็กจะหันกลับมาพิจารณาบทบาทของพ่อแม่มากขึ้น เช่น อาจถามคำถามแสดงความอยากรู้ว่า พ่อแม่รักตนมากเพียงใด และเด็กจะค้นพบคำที่มีความหมายแสดงถึงประสบการณ์ที่เด็กเคยได้รับ จากพ่อแม่มาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้บางคนอาจมีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็อาละวาด กระทืบเท้า ขว้างปาข้าวของ ลักษณะพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดของเด็ก โดยผ่านทางพฤติกรรมทั้งสิ้น
โดยทั่วไปผู้ใหญ่มักคิดว่าเด็กไม่มีปัญหาอะไรเพราะเขายังไม่รู้จักคิดและยังไม่เข้าใจอะไรเพียงพอ วันๆ ก็ไม่รับผิดชอบไม่รับรู้อะไร ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิดไปจากความจริงอย่างมากทีเดียว
เด็กที่อยู่ในวัยกำลังพัฒนา เขาเรียนรู้และรับรู้อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เขาจึงมีความรู้สึก และความคิดของเขาตามแบบเด็กๆ และสามารถรับรู้เข้ใจอะไรๆ ได้พอสมควรมากกว่าที่ผู้ใหญ่จะคาดคิด
เมื่อเด็กมีความไม่สบายใจ วิตกกังวล หรือมีความทุกข์เศร้า หรือแม้กระทั่งตื่นเต้นดีใจก็ตาม เด็กจะแสดงออกทางความรู้สึกนึกคิดโดยผ่านทางพฤติกรรมเสมอเพราะเขายังไม่สามารถ ถ่ายทอดความรู้สึกนั้นโดยการบรรยายเป็นคำพูดได้ ฉะนั้น เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนกำลังจะสูญเสียความรัก เช่น การมีน้องใหม่ หรือรู้สึกกังวลว่าตัวกำลังจะถูกทอดทิ้ง หรือเมื่อเด็กมีความกลัวว่าจะมีอันตราย เกิดขึ้นกับเขา เช่น การเจ็บป่วย การอยู่โรงพยาบาล หรือเมื่อผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดมีความไม่สบายใจ
จากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา เราจะเห็นเด็กมีพฤติกรรมที่ซนมากขึ้น งอแงติดแม่ รบกวนเรียกร้องต่างๆ ดื้อขึ้น แสดงอารมณ์หงุดหงิดร้องไห้บ่อย หรือเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีต่างๆ ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เอาใจใส่เด็ก และสังเกตพฤติกรรมของเด็กแล้ว จะสามารถเข้าใจอารมณ์ จิตใจและความรู้สึกนึกคิดของเด็กโดยไม่ยาก และจะสามารถช่วยเหลือเด็กได้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
ที่สำคัญ พ่อแม่จะต้องเข้าใจด้วยว่า โดยธรรมชาติเด็กเล็กมีลักษณะของการนึกถึงตนเองเป็นใหญ่ ยังมีความอดทน รอคอย และการยับยั้งชั่งใจน้อย และยังมีความเข้าใจต่างๆ ไม่เพียงพอ ซึ่งอาการเหล่านี้จะลดน้อยลง เมื่อเด็กเข้าใจความหมายต่างๆ ได้ดีขึ้น และสามารถใช้คำพูด เป็นเครื่องแสดงออกของความปรารถนา หรือระบายความรู้สึกของตน

การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning)




            ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ  แรกเกิดถึง 7 ปี  หากมาส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ของผู้ใหญ่  ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม  เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ

            สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ  สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น  สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

            การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.)การทำงานของสมอง  2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา  ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง  ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ

 การทำงานของสมอง
                  สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่  สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่  หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท  ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก  ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์
              สมองประกอบด้วย เซลล์สมองจำนวนกว่า 1  แสนล้านเซลล์  ลักษณะของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะมีส่วนที่ยื่นออกไปเป็นเส้นใยสมองแตกแขนงออกมามากมายเป็นพัน ๆ เส้นใยและเชื่อมโยงต่อกับเซลล์สมองอื่น ๆ  เส้นใยสมองเหล่านี้เรียกว่า แอกซอน (Axon)และเดนไดรท์ (Dendrite)จุดเชื่อมต่อระหว่างแอกซอนและเดนไดรท์ เรียกว่า ซีนแนปส์ (Synapses)เส้นใยสมองแอกซอนทำหน้าที่ส่งสัญญาณกระแสประสาทไปยังเซลล์สมองที่อยู่ถัดไป  ซึ่งเซลล์สมองบางตัวอาจมีเส้นใยสมองแอกซอนสั้นเพื่อติดต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ชิดกัน  แต่บางตัวก็มีเส้นใยสมองแอกซอนยาวเพื่อเชื่อมต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ห่างออกไป  ส่วนเส้นใยสมองเดนไดรท์เป็นเส้นใยสมองที่ยื่นออกไป อีกทางหนึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณกระแสประสาทจากเซลล์สมองข้างเคียงเป็นส่วนที่เชื่อมติดต่อกับเซลล์สมองตัวอื่น ๆ เซลล์สมองและเส้นใยสมองเหล่านี้จะมีจุดเชื่อมต่อหรือซีนแนปส์(Synapses)เชื่อมโยงติดต่อถึงกันเปรียบเสมือนกับการเชื่อมโยงติดต่อกันของสายโทรศัพท์ตามเมืองต่าง ๆ นั้นเอง
            จากการทำงานของเซลล์สมองในส่วนต่าง ๆ  ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลรอบตัวและสร้างความรู้ขึ้นมาได้นั้นคือ  เกิดการคิด  กระบวนการคิด  และความคิดขึ้นในสมอง  หลังเกิดความคิดก็มีการคิดค้นและมีผลผลิตเกิดขึ้น  ยิ่งถ้าเด็กมีการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้และการคิดมากเท่าไร  ก็จะทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ ๆ แตกแขนงเชื่อมติดต่อกันมากยิ่งขึ้น  ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยไปเพิ่มขนาดของเซลล์สมองจำนวนเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง  สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กพบว่า  ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา  10 ปีแรก  ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ  การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก 
           สมองมีหลายส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันแต่ทำงานประสานกัน  เช่นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ  และรับรู้การเคลื่อนไหว สี รูปร่างเป็นต้น  หลายส่วนทำหน้าที่ประสานกันเพื่อรับรู้เหตุการณ์หนึ่ง  เช่น  การมองเห็นลูกเทนนิสลอยเข้ามา  สมองส่วนที่รับรู้การเคลื่อนไหว สี  และรูปร่าง  สมองจะอยู่ในตำแหน่งแยกห่างจากกันในสมองแต่สมองทำงานร่วมกันเพื่อให้เรามองเห็นภาพได้  จากนั้นสมองหลายส่วนทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้เราเรียนรู้และคิดว่าคืออะไร  เป็นอย่างไร  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สมองสามารถเรียนรู้กับสถานการณ์หลาย ๆ แบบพร้อม ๆ กันโดยการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เช่น สมองสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์เชื่อมโยงกันได้  การทำเช่นนี้ได้เป็นเพราะระบบการทำงานของสมองที่ซับซ้อน  มีหลายชั้นหลายระดับ  และทำงานเชื่อมโยงกันเนื่องจากมีเครือข่ายในสมองเชื่อมโยงเซลล์สมองถึงกันหมด  เครือข่ายเส้นใยสมองเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้ว  ดูเหมือนว่าจะอยู่ไปอีกนานไม่มีสิ้นสุด  ช่วยให้สมองสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ทั้งในส่วนย่อยและส่วนรวม  สามารถคิดค้นหาความหมาย  คิดหาคำตอบให้กับคำถามต่าง ๆ ของการเรียนรู้และพัฒนาความคิดใหม่ ๆ ออกมาได้อีกด้วย 
            นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า  ความเครียดขัดขวางการคิดและการเรียนรู้  เด็กที่เกิดความเครียดจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเช่นเด็กที่ได้รับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจทำให้เกิดความหวาดกลัว  เครียด  บรรยากาศการเรียนรู้ไม่มีความสุข  คับข้องใจ  ครูอารมณ์เสีย  ครูอารมณ์ไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวดี  เดี๋ยวร้าย  ครูดุ  ขณะที่เด็กเกิดความเครียด  สารเคมีทั้งร่างกายปล่อยออกมาจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง  ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด  เรียกว่า  คอร์ติโซล (Cortisol)  จะทำลายสมองโดยเฉพาะสมองส่วนคอร์เท็กซ์หรือพื้นผิวสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด  ความฉลาด  กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสหรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ  ซึ่งความเครียดทำให้สมองส่วนนี้เล็กลง  เด็กที่ได้รับความเครียดอยู่ตลอดเวลา  หรือพบความเครียดที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้  ส่งผลต่อการขาดความสามารถในการเรียนรู้  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  เพราะเด็กมีสมองพร้อมที่จะเรียนได้  แต่ถูกทำลายเพราะความเครียดทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ได้หายไปตลอดชีวิต
การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก   
     การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมองและการทำงานให้ประสานสัมพันธ์ของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา  สมองซีกซ้ายควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์  ในขณะที่สมองซีกขวาเป็นด้านศิลปะ  จินตนาการ  ดนตรี ระยะ/มิติ หากครูสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้ใช้ความคิดโดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกันให้สมองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน  ผู้เรียนจะสามารถสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม เป็นผลงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลผสมผสานในผลงานชิ้นเดียวกัน

            หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆดังนี้  

            1. การเคลื่อนไหวของร่างกาย  ฝึกการยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆที่เราต้องการ  หรือพวกนักกีฬาต่างๆ 
            2. ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟัง  การอ่านและการเขียน  เช่น ให้เด็กเล่าสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้ลงมือกระทำ  ฟังเรื่องราวต่างๆที่เด็กต้องการเล่าให้ฟังด้วยความตั้งใจ  เล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน  เล่าจบตั้งคำถามหรือสนทนากับลูกเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน  อ่านคำจากป้ายประกาศต่างๆที่พบเห็น  ให้เด็กได้วาดภาพสิ่งที่เขาได้พบเห็นหรือเขียนคำต่างๆที่เขาได้พบเห็น    
            3. การรู้จักการหาเหตุผล ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน  เรียนรู้ขนาด ปริมาณ  การเพิ่มขึ้นลดลง  การใช้ตัวเลข
            4. มิติสัมพันธ์และจินตนาการจากการมองเห็น ให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆที่เป็นของจริง  เรียนรู้สิ่งต่างๆจากประสบการณ์ตรง  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ  ขนาดตำแหน่ง  และการมองเห็น  สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างรอบตัว  เข้าใจสิ่งที่มองเห็นได้สัมผัส  สามารถนำสิ่งที่เข้าใจออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ 
            5. ดนตรีและจังหวะ  ให้เด็กได้ฟังดนตรี แยกแยะเสียงต่างๆ  ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี  ฝึกให้เด็กรู้จักจังหวะดนตรี 
            6. การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  ฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เข้าใจผู้อื่น  เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น  ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา 
            7. การรู้จักตนเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เข้าใจตนเอง จะทำให้ดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม
            8. การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ 
               กระบวนการจัดการเรียนรู้ 
            เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ  ลักษณะกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นแบบเปิดกว้าง จัดให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายโดยให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจหรือให้เด็กได้แสดงออกในแนวทางที่เขาสนใจ  เรียนรู้แบบปฏิบัติจริงโดยการใช้ประสาทสัมผัสกระทำกับวัตถุด้วยความอยากรู้อยากเห็น ได้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ  เด็กเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  เด็กได้การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นกลุ่มเล็กๆ  และเป็นรายบุคคล  การให้เด็กได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่นทำให้เด็กได้ตรวจสอบความคิดของตน  แต่เมื่อมีปัญหาเด็กต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่  ควรให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง  มีการเชื่อมโยงหลากหลายสาขาวิชา  บทบาทของครูเป็นผู้ให้คำแนะนำเมื่อเด็กต้องการและให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม


ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

1.      ให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
     ในการทำกิจกรรม 1 กิจกรรมพยายามให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างร่วมกัน               การเรียนจากการปฏิบัติจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ 
                 ฉันฟัง  ฉันลืม
                   ฉันเห็น  ฉันจำได้
                   ฉันได้ทำ  ฉันเข้าใจ


            2.  ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่เขาคิด และได้ลงมือกระทำ  ถ้าไม่ได้พูดสมองไม่พัฒนา  ต้องฝึกให้ใช้สมองมากๆอย่างมีความสุข  ไม่ให้เครียด
          3.  ผู้ใหญ่ต้องรับฟังในสิ่งที่เขาพูดด้วยความตั้งใจ  และพยายามเข้าใจเขา



สารอาหารบำรุงสมอง 
           อาหาร 5 หมู่มีส่วนบำรุงสมองทั้งสิ้น โดยเฉพาะทารกในครรภ์  อาหารจะเข้าไปช่วยสร้างเซลล์สมอง  เมื่อคลอดออกมาแม่ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่เช่นเดิม  เมื่อลูกโตขึ้นปริมาณของน้ำนมของแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องให้อาหารเสริม  ถ้าขาดสารอาหารเซลล์สมองจะเติบโตช้าและมีจำนวนน้อยลง  เส้นใยประสาทมีการสร้างไม่ต่อเนื่อง 
           ตับและไข่  เด็กปฐมวัยต้องการธาตุเหล็กจากตับหรือไข่ ถ้าเด็กไม่กินตับหรือไข่  และหรือกินในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความจำและสมาธิด้อยลง 
           ปลา  สารจากเนื้อปลาและน้ำมันปลามีส่วยสำคัญต่อการพัฒนาความจำและการเรียนรู้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่า เดนไดร์  ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง อธิบายได้ว่าทำให้เด็กเข้าเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายและเร็ว
ควรให้เด็กรับประทานเนื้อปลาทุกวันหรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเนื้อปลาทะเลเช่น ปลาทู  ปลากระพง และปลาตาเดียว เป็นต้น 
           ผักและผลไม้  ผักที่มีสีเขียว  เหลืองหรือแดง  อาหารเหล่านี้ให้วิตามินซี เพื่อนำไปสร้างเซลล์เยื่อบุต่างๆทั่วทั้งร่างกายและวิตามินเอทำให้เซลล์ประสาทตาทำงานได้เต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการพัฒนาสมอง
           วิตามินและเกลือแร่ ช่วยในการทำงานของเชลล์ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทำให้เชลล์สมองมีการทำงานลดลงและเชื่องช้าจะกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
           ปลา ไก่ หมู นมและอาหารทะเล อาหารเหล่านี้มีแร่ธาตุต่างๆเช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซี่ยม  สังกะสี  ฟอสฟอรัสและไอโอดีน  มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง
           ผักตระกูลกะหล่ำ(ทำให้สุก) ข้าวสาลี และน้ำนมแม่ สามารถไปยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์สมองได้
           การพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็ก ขึ้นกับ อาหาร  พันธุกรรม  สิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีโอกาสได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ  ให้เด็กมีโอกาสคิดในหลากหลายแบบเช่น คิดแสวงหาความรู้  คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  คิดกว้าง คิดไกล  คิดเชิงอนาคต  คิดนอกกรอบ  ผู้ปกครองหรือครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขในขณะที่ฝึก  สมองจึงจะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ  


               เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเหตุผล ลูกไม่รู้ว่าแม่เหนื่อย   ลูกไม่เข้าใจ  ลูกก็ซน ช่างซักช่างถาม อย่ารำคาญ อย่าโกรธลูกเลย รักลูกก็ให้กอดลูกแล้วบอกว่าแม่รักพ่อรัก  แสดงความรักออกมาอย่างจริงใจ  แสดงความใส่ใจต่อลูก  นี้คือยาวิเศษที่ลูกต้องการ  คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนอารมณ์ดี

ผู้ติดตาม