วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เคล็ดลับสนับสนุนของพ่อแม่

คุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องการวาดของลูก แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ลองทำวิธีเหล่านี้ดูนะคะ
       1.  เตรียมอุปกรณ์การวาดที่ปราศจากสารเคมีสำหรับลูก รวมทั้งเตรียมกระดาษสำหรับวาดให้เขาด้วยนะคะ
       2.  คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าชอบการวาดรูปให้ลูกดู แต่ไม่ควรวาดเป็นตัวอย่างให้ลูกต้องวาดตาม
       3.  ให้กำลังใจโดยการชมว่ารูปที่ลูกวาดนั้นสวย ทั้งเรื่องของการใช้สี เส้น และรูปร่างต่างๆ
       4.  ขณะที่ลูกวาดรูปควรถามลูกว่าวาดรูปอะไรอยู่ เพื่อให้ลูกได้อธิบายถึงภาพที่กำลังวาด และแนะนำให้เติมสิ่งที่วาดขาดไปค่ะ
       5.  คุณพ่อคุณแม่อาจเตรียมหนังสือที่มีเส้นประไว้ให้ลูกวาดก็ได้ค่ะ และสามารถเตรียมรูปทรงหลายๆ ประเภท สีกระดาษที่มีพื้นผิวต่างๆ กัน เพื่อให้เด็กได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่
       6.  คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายเรื่อง ความหนา-บาง ความกว้าง-แคบ ความมืด-สว่าง รูปเหลี่ยมชนิดต่างๆ ลายเส้น ทั้งเส้นตรง เส้นโค้ง ฯลฯ เพื่อให้ลูกมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
       7.  หาภาพวาดที่สวยงามมาติดไว้ในจุดที่ลูกสามารถมองเห็นได้
       8.  เปิดเพลงเพราะๆ ขณะที่ลูกกำลังวาดภาพ และสังเกตว่าจังหวะของดนตรีจะเปลี่ยนแปลงการวาดของลูกอย่างไรบ้าง
       9.  ปล่อยให้ลูกเลือกว่าอยากจะวาดอะไรรวมทั้งให้เขาเลือกใช้สีได้ตามใจชอบค่ะไม่ควบบอกให้เด็กวาดหรือบอกให้เด็กใช้สีตามที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเหมาะสม เพราะเด็กจะไม่ได้ใช้ความคิดและจิตนาการของตนเองค่ะ
      10. เมื่อลูกวาดรูปคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งคำถาม ให้คำแนะนำและให้กำลังใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในความสามารถของตัวเขาเอง
ไม่น่าเชื่อนะคะว่า การวาดจะมีบทบาทสำคัญสำหรับเด็กมากมายขนาดนี้ ฉะนั้นคราวหน้าหากลูกวาดภาพอะไร หรือจะเป็นเพียงลายเส้นยุ่งๆ ก็ตาม อย่าลืมเอ่ยชมผลงานของเขานะคะ ใครจะรู้ว่าคำพูดให้กำลังใจเพียงไม่กี่คำของคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขากลายเป็นศิลปินยิ่งใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้

ศิลปะเด็ก vs ศิลปะบำบัด

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าศิลปะบำบัดต่างจากศิลปะเด็กอย่างไร ในเมื่อศิลปะบำบัดก็มีแค่การวาด การปั้น ดนตรี การเคลื่อนไหว ซึ่งก็พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของลูกอยู่แล้วถ้าลูกเรียนศิลปะอยู่จะถือว่าเป็นการบำบัดไปในตัวได้หรือไม่
คำตอบก็คือไม่ได้ค่ะ เพราะศิลปะเด็กและศิลปะเด็กและศิลปะบำบัดมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน โดยครูมอสได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างศิลปะทั้ง 2 อย่างเอาไว้ดังนี้
ศิลปะบำบัด จะเป็นการใช้ศิลปะกับเด็กที่มีความเจ็บป่วยไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ โดยเน้นไปที่กระบวนการทำงาน ในแต่ละขั้นตอนว่าเด็กที่เข้ารับการบำบัดนั้นมีความสงบนิ่ง มีสมาธิ มีความตั้งใจหรือไม่ มากกว่าจะมานั่งสนใจว่าผลงานจะออกมาสวยหรือไม่สวยครับ
ศิลปะบำบัดจะเน้นที่การทำงานของแต่ละคน เพราะจะมีรายละเอียดของการใช้ศิลปะในการบำบัดแตกต่างกัน จึงต้องบำบัดทีละคน หรือกลุ่มเด็กที่มีบุคลิกใกล้เคียงกัน และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างนักศิลปะบำบัดในการออกแบบวิธีเพื่อทำงานกับเด็กที่มีความเจ็บป่วยเท่านั้นพ่อแม่หรือครูศิลปะเด็กไม่สามารถทำได้เอง
แต่ ศิลปะเด็ก จะเน้นไปที่วัตถุประสงค์มากกว่ากระบวนการทำงาน และไม่มีข้อจำกัดอะไรมากมาย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็สามารถสอนศิลปะได้ และสามารถสอนคนเดียวหรือสอนเป็นกลุ่มก็ได้ ไม่ว่าเด็กจะป่วยหรือไม่ป่วยก็สามารถใช้ศิลปะเด็กได้ และพ่อแม่สามารถสร้างศิลปะขึ้นในบ้านได้เองด้วยครับ
ศิลปะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มีชีวิตอยู่ในตัวเอง เช่น ดนตรี ทำไมเวลาเราร้องเพลง หรือเล่นดนตรีแล้วมีความสุข ทำไมเวลาเราวาดรูปแล้วจึงมีสมาธิ วาดได้นานแบบไม่มีเบื่อ นั่นคือ ความมหัศจรรย์ที่มีอยู่ในศิลปะ การที่เด็กได้ทำศิลปะนั้น จะเป็นการช่วยหล่อหลอมและปรับจิตใจ เพราะศิลปะเป็นเรื่องของความรู้สึก (Feeling) เป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจ ดังนั้น เครื่องมือที่รักษาจิตหรือพัฒนาจิตให้ดีขึ้นก็คือศิลปะ
-------------------------------------------------------------------------------------------
โดย : นวพรรณ
ข้อมูลจาก :  www.iqeqdekthai.com

พัฒนาสมองลูกด้วยดนตรี

"ดนตรีนั้นเป็นเครื่องมือที่มีอำนาจมากกว่าการศึกษาวิชาใดๆ"

ดิฉันรักไวโอลินมาก ขนาดว่าแค่เห็นไวโอลินก็มีความสุข อยากเล่นไวโอลินทุกวัน ถ้าอยู่ว่างๆ บางครั้งก็คิดถึงเสียงไวโอลิน

เสียงดนตรีไม่ได้มีความสำคัญแค่สร้างความสุขให้ชีวิตประจำวัน ดิฉันได้พบข้อมูลว่า ดนตรีมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมองมาก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีงานวิจัยค้นคว้าจำนวนมากยืนยันว่า เด็กที่เรียนดนตรี เล่น ดนตรี จะส่งผลให้เรียนวิชาอื่นๆ ดีขึ้นด้วย

ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมูนสเตอร์ ประเทศเยอรมัน (University of Munster) พบว่า สมองของเด็กที่เรียนดนตรี โดยเฉพาะส่วนที่วิเคราะห์ระดับเสียงจะโตกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนดนตรีถึง 25% และบอกอีกว่า การเล่นเปียโนมีความซับซ้อนกว่าการทำงานของคอมพิวเตอร์เสียอีก คนที่เล่นเปียโนจะมีความสามารถ และมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ซับซ้อนขึ้น นักเรียนเปียโนสามารถเล่นหมากรุก เรียนวิศวกรรม เรียนคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เล่นเปียโน 34% (พบในเด็กที่เรียนเปียโนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน)

ส่วนงานวิจัยจากรัฐโรดไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกาพบว่า นักเรียนเกรด 1 (ประถมต้น) ที่เล่นดนตรี จะอ่านหนังสือได้คล่องขึ้น และเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนดนตรี รวมทั้งพัฒนาการด้านอื่นก็ดีขึ้นด้วย คือเด็กมีความถนัดในการหยิบจับสิ่งของได้กระฉับกระเฉงขึ้น

ในเมื่อดนตรีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กเช่นนี้ ดนตรีจึงไม่ใช่วิชาข้างถนนอีกต่อไป การเรียนดนตรีของเด็กๆ จึงมีความหมายมากขึ้น และยิ่งถ้ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ดนตรีก็จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตเขาอย่างมากด้วย

สำหรับดิฉันเอง อยากจะบอกว่า ทฤษฎีการฝึกฝนเรียนไวโอลินจริงๆ นั้นค่อนข้างยาก... แต่สนุกค่ะ
ถ้าจะส่งเสริมให้ลูกได้เรียนไวโอลิน สำหรับเด็กประถมมัธยมแล้ว อาจจะอยู่ในช่วงกำลังค้นหาตัวเอง ขั้นต้นจึงไม่ต้องไปลงทุนซื้อไวโอลินแพงมาก แล้วถ้าเผื่อลูกเลิกเรียนกลางคัน เพราะว่าเบื่อหน่ายหรือเพราะยากเกินไป ก็ต้องมาคุยกันเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อย่าเพิ่งตัดสินว่า ลูกจับจดหรือลูกไม่มีความมานะพยายาม

ดิฉันอยากจะยกตัวอย่างการเรียนการสอนดนตรีของซูซูกิ (Suzuki) ซึ่งเป็นระบบการเรียนการสอนดนตรีสำหรับเด็ก (ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกมาเป็นแนวทาง (ผู้ที่ทุ่มเทคิดค้นระบบการสอนนี้คือ ชินนิจิ ซูซูกิ (Shinichi Suzuki) ผู้มีอายุยืนถึง 100 ปี (พ.ศ. 2441-2541))

ซูซูกิเชื่อว่า ความสามารถที่เรียกว่า 'อัจฉริยะ' ไม่ได้มีติดตัวคนเรามาตั้งแต่เกิด ทุกคนเกิดมาไม่มีความสามารถอะไรเหมือนๆ กัน ต้องอาศัยการเรียนรู้ การฝึกฝน และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ซูซูกินคิดค้นหลักสูตรที่เรียกว่า “Talent Education” ซึ่งเป็นความสามารถที่เกิดจาก วิธีการเดียวกับการเรียนรู้ภาษาแม่ (Mother-tongue approach) คือเกิดจากการฝึกซ้อมที่ถูกต้อง การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดจากตัวเด็กเองไม่ใช่โดยทฤษฎีหรือข้อแนะนำใดๆ และเคล็ดลับสำคัญคือค่อยๆ เรียนรู้ ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง สอนแบบธรรมชาติ แบบพ่อแม่สอนลูก ให้กำลังใจด้วยความรัก กระตุ้นให้ฝึกซ้อมบ่อยๆ อย่างมีวินัย
นอกจากนี้ แนวทางของซูซูกิยังมีอีกว่า
- ครูของหลักสูตรนี้ต้องมีทัศนคติว่า ทักษะทางดนตรีสามารถพัฒนาได้ในเด็กทุกคน
- หากเรียนดนตรีตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะช่วยให้เด็กผูกพันกับดนตรีง่าย
- พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมในการเรียนดนตรีของลูกด้วย
- เด็กควรได้สัมผัสและมีประสบการณ์การเล่นดนตรีที่ง่ายๆ ก่อนเรียนโน้ตดนตรี (และอย่าสอนเงื่อนไขทางดนตรีก่อนที่เขาจะเล่นดนตรีเป็น)
- เทคนิคของการเล่นจะต้องเป็นลำดับขั้นตอน
- เพลงทุกๆ เพลงที่เรียนผ่านไปแล้ว ต้องได้รับการทบทวน ขัดเกลาสม่ำเสมอ
ระบบซูซูกิเน้นการทบทวน ฝึกฝนเพลงที่เรียนไปแล้ว

ในชั้นเรียนทุกๆ ครั้ง ควรย้อนกลับไปทบทวนบทเพลงที่เรียนไปแล้วอยู่เสมอ วิธีนี้เด็กจะพัฒนาคุณภาพการเล่นไปเอง เสียงถูกต้อง ไม่เพี้ยน มีความไพเราะขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องยากที่คนเราจะทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน ถ้าต้องเล่นเพลงใหม่ ก็จะต้องใช้สมาธิในการอ่านโน้ตแต่ละตัว จึงไม่สามารถคิดถึงท่าทางที่ถูกต้อง สวยงาม ความรู้สึกและอารมณ์เพลงไปด้วยได้ ต่อเมื่อเราเล่นได้คล่องแล้วนั่นแหละ กลไกทุกอย่างจะสอดคล้องไปได้ดีโดยอัตโนมัติ

บรรยากาศการเรียนดนตรีก็สำคัญ ต้องทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าดนตรีเป็นประสบการณ์ที่ดี อย่าบีบคั้นให้เด็กรู้สึกกดดัน

...เด็กจะรู้จักสร้างเสียงดนตรีที่ไพเราะ ก็จากรากฐานจิตใจที่งดงามค่ะ

เคล็ดลับการฝึกเล่นไวโอลิน

ตั้งเป้าหมายอย่างพอเหมาะ ตั้งเป้าหมายและวางแผนว่าจะฝึกซ้อมวันละกี่ชั่วโมง ซึ่งต้องเป็นไปได้ด้วย

ฝึกฝนอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถใช้เวลาเพียงวันละ 30 นาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งเวลาออกเป็น 3 ส่วน 10 นาที สำหรับการฝึกซ้อมคุณภาพเสียง (Tonalization) อีก 10 นาที สำหรับการซ้อมทบทวน และ 10 นาทีสุดท้ายสำหรับซ้อมส่วนอื่นๆ เช่น เพลงใหม่ การอ่านโน้ต การเตรียมเพลงที่จะฝึกในอนาคต

สมาธิและความตั้งใจ การเรียนไวโอลิน ต้องอาศัยทั้งความตั้งใจและสมาธิ เพราะต้องเรียนรู้ไปทีละขั้น ในแต่ละขั้นอาจมีปัญหาในการฝึกเทคนิค ก็ต้องใช้ความพยายาม และสติในการแก้ไขจนเกิดทักษะ

ผู้ติดตาม