วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สุขภาพเด็กไทยไม่ใช่เรื่องเล็ก

น้องนัท เป็นเด็กชายวัย 10 ปี ผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ และอ้วนท้วม มีน้ำหนักเกือบ 50 กิโลกรัม หากมองจากด้านหลัง คนจะคิดว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ พ่อหนูคนนี้ไม่ค่อยมีความสุขนัก เพราะถูกเพื่อนล้อว่าเป็นยักษ์เสมอ จริงอยู่เขาอาจจะมีแรงเยอะ จนไม่มีใครกล้ารังแก แต่ความที่เคลื่อนไหวช้า คิดช้า กินเยอะชอบหลับในเวลาเรียน และเหนื่อยง่าย หายใจขัดเสมอทำให้เขากลายเป็นคนพิเศษที่เพื่อนๆ มักมองข้าม เมื่อต้องรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมหลายอย่างในชั้น
ย้อนกลับไปดูชีวิตประจำวันของนัท เขาต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อให้พ่อแม่พาไปโรงเรียนชื่อดังในย่านธุรกิจกลางใจเมือง เขากินอาหารเช้าในรถ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำพวกข้าวกับเนื้อสัตว์ทอด นมปรุงแต่งกลิ่นและรสอีกหนึ่งกล่องใหญ่ บางครั้งก็มีขนมขบเคี้ยวตบท้าย
ระหว่างวันอาจไม่ได้กินอะไรมากนัก แต่เขาก็ต้องคร่ำเคร่งกับหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการ ปลูกฝังเด็กๆ ด้วยระบบการแข่งขันอย่างหนักหน่วง เพราะพ่อแม่ค่อนข้างคาดหวังในตัวของเขาสูงมาก
ตกเย็นเมื่อพ่อแม่มารับ น้องนัทก็ได้กินน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ แฮมเบอร์เกอร์ และมันฝรั่งทอด ซึ่งพ่อแม่มักซื้อมาให้เป็นอาหารมื้อบ่ายไม่อั้น ก่อนจะได้กินหมู เป็ด ไก่สารพัดเมนูในภัตตราคารหรูเป็นอาหารมื้อค่ำ
ในวันหยุด น้องนัทก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอโทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ อันเป็นกิจกรรมบันเทิงราคาแพงซึ่งเพื่อนๆ ในโรงเรียนของเขานิยมกันมาก
หลายคนที่รู้จักน้องนัทบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นเด็กที่มีความเครียดสูงกว่าเด็กทั่วไป ไม่ค่อยร่าเริงเหมือนเด็กอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกันแพทย์ประจำตัวน้องนัทอาจ ไม่ได้เน้นเรื่องนี้เท่าไรนัก ทุกครั้งที่แม่พาไปหาหมอเกือบทุกเดือนนั้น แพทย์บอกเพียงว่าเขาเป็นภูมิแพ้ และให้ยามากินหลายขนาน เรียกได้ว่านอกจากอาหารมากมายที่กินในแต่ละวันแล้ว เขายังต้องกินยาอีกมากมายควบคู่ไปด้วย
จากเรื่องของน้องนัท ช่วยให้พอมองเห็นปัญหาสุขภาพบางอย่างของเด็กไทย ซึ่งเราทุกคนจะต้องร่วมมือแก้ไข ก่อนที่เจ้าตัวน้อยที่เรารักและหวงแหนจะเจ็บป่วยด้วยหลายโรค
สุขภาพเด็กไทย
แพทย์หญิงนิชรา เรืองดารกานนท์แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยให้ทราบว่าปัญหาเรื่องสุขภาพเด็กคงมีอยู่เหมือนเดิม ปัญหาเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาเด็กขาดสารอาหารก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในเขตนอกเมือง
ความอ้วนของเด็กมักมาจากการบริโภคอาหาร สมัยใหม่หรือที่เรียกกันติดปากว่าอาหารจานด่วน เป็นเพราะได้รับสารอาหารไม่เหมาะสม ได้บางอย่างเกินและขาดบางอย่างไป
พ่อแม่บางคนเข้าใจว่าลูกกินนมเยอะจะดี การกินนมเยอะเกินไปจะทำให้ได้อาหารไม่ครบถ้วน เพียงพอ ยิ่งในวัยที่เกินหนึ่งขวบไปแล้ว นมควรเป็นแค่อาหารเสริมเท่านั้น ไม่ใช่อาหารหลัก เพื่อให้ได้แคลเซียมบ้าง แต่ถ้ากินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมสูงมากอยู่แล้ว ก็ลดปริมาณนมได้อีก

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารจานด่วนก็หนีไม่พ้นเรื่องไขมัน หรือไตรกลีเซอร์ไรด์ อาจเป็นผลระยะยาว ซึ่งไม่แสดงอาการทันที แต่มันจะสะสมสูงต่อเนื่อง จนกลายเป็นเส้นเลือดอุดดัน ความดันสูงก่อนวัยที่ควรจะเป็น

เด็กอ้วนจะมีผลต่อการนอนด้วย เพราะความอ้วนจะส่งผลต่อระบบการหายใจ เหมือนภาวะอุดตันชั่วขณะ ยิ่งถ้ามีต่อมทอนซิน หรือต่อมอะดีนอยด์โตอยู่แล้ว พออ้วนก็ยิ่งทำให้หายใจลำบากขึ้น กลางคืนจึงนอนกรน กระสับกระส่าย ผุดลุกผุดนั่ง นอนหลับไม่สนิท ก็ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ปัญหาเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ปัญหาเรื่องสารพิษ การปนเปื้อนพวกสารตะกั่ว สารหนูต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาการ และสติปัญญาอย่างถาวร ถึงการรักษาเบื้องต้นจะทำให้หายได้ แต่ก็มีผลต่อเนื่องระยะยาว
การที่เด็กต้องตื่นแต่เช้ามาก ทำให้เวลานอนไม่พอเพียง ซึ่งอาจทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เพราะฮอร์โมนที่ทำให้เด็กโตจะหลั่งตอนที่หลับสนิทและนอนนานเพียงพอ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเครียด เพราะชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขัน ผู้ใหญ่เครียด ก็ส่งผลให้เด็กเครียดเช่นกัน ซึ่งความเครียดส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้และจิตใจของเด็ก ก่อให้เกิดความผิดปกติหลายอย่าง เช่น สมาธิสั้น ก้าวร้าว ซึมเศร้า แม้แต่โรคภูมิแพ้ เพราะเมื่อเครียด ภูมิต้นทานก็ลดลง เป็นหวัดบ่อย เป็นต้น
“การที่พ่อแม่ทำงานหนัก ชีวิตแข่งขัน มีความเครียดสูง ทำให้มีเวลาลดลง เด็กจึงมีโอกาสออกกำลังกายน้อยลง ทั้งพ่อแม่และลูกก็ไม่มีเวลาเหมือนกัน เพราะไปด้วยกัน เด็กจึงไม่มีโอกาสได้ออกแรงตามวัยที่ควรจะเป็น วิ่งเล่น เพื่อลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ชีวิตและสังคมทางหนึ่ง เมื่อไม่ได้ออกกำลังกาย และเอาแต่เล่นวีดีโอเกม เกมคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ปัญหาก็โยงกลับไปสู่ความอ้วนอีกนั่นละ”
เรื่องของมะเร็งในเด็ก คุณหมอนิชราบอกว่าโอกาสที่เด็กจะเป็นมะเร็งมีมากขึ้น ในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะมลภาวะต่างๆ และสารพิษส่วนใหญ่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น ควันบุหรี่ ขณะเดียวกันโรคติดเชื้ออื่น ๆเช่นท้องร่วง ปอดบวมลดลง เพราะมีการให้วัคซีนทั่วถึง
โรคทางจิตในเด็กพบว่าเพิ่มขึ้น  แค่เราเห็นตามข่าวก็รู้ว่ามากขึ้น เช่นฆ่าตัวตาย ฆ่ากันตาย  ทั้งภาวะซึมเศร้า มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายสูง
ปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรมหลายอย่าง อาจไม่เหมือนผู้ใหญ่และเด็กโต เช่น เด็กไม่จำเป็นต้องนั่งร้องไห้ หรือไม่กินข้าวกินปลา นอนไม่หลับ จึงจะแปลว่าเป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งความซึมเศร้าอาจเบี่ยงเบนเป็นความซนมาก อยู่ไม่นิ่ง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว เพราะเขาหงุดหงิดอยู่ภายใน
นอกจากนี้โรคออทิสติก ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของเซลล์สมองในทางการแพทย์ก็มีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางระบาดวิทยาว่าเยอะขึ้น
ปกป้องหนูอย่างเอาใจใส่
การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย คงเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนตัวเล็กอย่างเรา แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาสุขภาพของเด็ก ก็สามารถแก้ไขง่ายๆ ด้วยความรักความเอาใจใส่ ตระหนักถึงธรรมชาติและความต้องการของเจ้าตัวน้อยใกล้ๆ ตัวคุณเอง
เริ่มต้นด้วยการให้เวลากับเขามากขึ้น ทำกิจกรรมด้วยกัน เรียนรู้ลักษณะเฉพาะของเขา ขณะเดียวกันก็สังเกตความเปลี่ยนแปลงของเขา ว่ามีพฤติกรรมบางอย่างไม่ชอบมาพากลหรือไม่ จากนั้นก็ปรึกษาหารือกันในระหว่างผู้ใหญ่ในบ้าน และหาวิธีช่วยเหลือเขา
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในครอบครัว เพื่อลดปัญหาบางอย่างของเด็กก็มีส่วนช่วยได้มาก เช่น หยุดส่งเสริมวัฒนธรรมการแข่งขันในสังคม แต่ให้หันมาปรองดอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แทน เพราะอย่าลืมว่า เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ถ้าแม่แบบในครอบครัวเป็นอย่างไร เด็กก็จะเป็นเช่นนั้น
…และบัญญัติห้าประการอันได้แก่ ใช้ชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ อยู่อย่างเรียบง่ายและรู้จักความพอดี มีความเห็นอกเห็นใจ รักกันอย่างพี่อย่างน้อง ดูแลสุขภาพกายใจให้เป็นเลิศ และข้อสุดท้ายคือ พยายามสร้างสังคมที่ยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
เชื่อเถอะว่า ถ้าคุณทำได้ เด็กๆ ก็จะทำตาม นอกจากสุขภาพของเจ้าตัวน้อยและตัวคุณเองจะดีขึ้นแล้ว สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวอาจจะดีขึ้นด้วย
ส่วนด้านสุขภาพก็ควรชักจูงเด็กๆ ให้ผละจากโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ด้วยกิจกรรมกลางแจ้ง หรือการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ก็ควรโน้มน้าวให้เจ้าตัวน้อยละเลิกอาหารฟาสต์ฟู้ด และหันมาสนใจอาหารธรรมชาติบ้าง

บำรุงสมองเด็กด้วยอาหารชีวจิต
จริงอยู่ที่ร่างกายของเด็กกำลังเจริญเติบโต ต้องการสารอาหารบำรุงร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ แต่พืชผักหลายชนิดก็ให้ทำหน้าที่นี้ได้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหงแนะนำอาหารบำรุงสมองและระบบประสาทสำหรับเจ้าตัวน้อยดังนี้ค่ะ
 Folic Acid มีอยู่ในผักใบเขียวจัดทุกชนิด เช่น แครอท ตับ ไข่แดง แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ถั่วแดง-ดำ-เหลือง
ข้าวซ้อมมือ และข้าวสาลีไม่ขัดขาว
 Niacin ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ปลา ไข่ ถั่วลิสงคั่ว อะโวคาโด อินทผลัม มะเดื่อ ไก่ (เนื้อขาว)
 Zinc จมูกข้าว เมล็ดฟักทอง บริเวอร์ยีสต์ ไข่ นม มัสตาร์ดผง
 Potassium ส้ม ส้มโอ แคนตาลูป มะเขือเทศ แห้ว ผักใบเขียว สะระแหน่ เมล็ดทานตะวัน กล้วยน้ำว้า มันเทศ มันฝรั่ง
 Kelp คือ ต้นไม้ทะเล เกลือแร่ที่ต้องการจาก Kelp คือ ไอโอดีน สาหร่ายทะเลทุกชนิดก็ใช้ได้
 Tryptophan คอตเตจชีส นม เนื้อสัตว์ ปลา กล้วย อินทผลัม ถั่วลิสง
 Phenylalanine ถั่วเหลืองและผลิตผลจากถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ หอย กุ้ง คอตเตจชีส นม ถั่วอัลมอนด์ ถั่วลิสง งา เมล็ดฟักทอง
 B1 ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ข้าวสาลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ตับ แคนตาลูป กะหล่ำปลี โมนาส นม ไข่ เนื้อ
 B6 ข้าวซ้อมมือ ข้าวสำลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ตับ แคนตาลูป กะหล่ำปลี โมนาส นม ไข่ เนื้อ
 B12 ตับ เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนย
 DNA/RNA จมูกข้าว รำข้าว ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด ทุกชนิด ปลา ตับไก่ ข้าวโอต หัวหอม
 อาหารบางอย่างมีทั้งตัวยา วิตามินแร่ธาตุครบ เช่น ข้าวซ้อมมือ
แม้เด็กจะตัวเล็ก แต่ปัญหาสุขภาพของเขาไม่เล็กสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่แน่นอน ฉะนั้น เราต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลลูกหลานของเราก่อนจะสายเกินไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
การดูแลสุขภาพเด็กจะต้องเอาใจใส่เป็นอย่างมาก
ผู้ปกครองควรให้ความสนใจลูกน้อยให้มากๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม