วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เมื่อเด็กออทิสติกต้องเข้าโรงเรียน

วันก่อนได้มีโอกาสอ่านบทความของ นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของเด็กที่เป็นออทิสติกที่ต้องเริ่มเข้าโรงเรียนว่าจะต้องมีการเตรียมตัวกันทุกฝ่าย ทั้งพ่อแม่ ตัวเด็ก และครูผู้ดูแล ซึ่งดิฉันเห็นว่าเป็นราวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งจึงขอหยิบยกมาเล่าต่อให้เพื่อนๆ ได้ฟังกันนะคะ

     ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า เด็กออทิสติก (Autistic Child) คือ เด็กที่มีอาการของโรคออทิสซึม (Autism) ซึ่งจะมีพัฒนาการทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสารบกพร่อง ส่งผลให้มีพฤติกรรมความสนใจ และกิจกรรมต่างๆ ผิดปกติ เป็นไปอย่างจำกัด และซ้ำ ๆ สาเหตุของความผิดปกติมีหลายสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคออทิสซึมได้แต่ยังไม่พบคำตอบที่ชัดเจน

 

 

      เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียนพ่อแม่หลายคนที่มีลูกเป็นออทิสติกอาจมีความกังวลเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่ทราบว่าต้องให้เรียนโรงเรียนไหน กลัวว่าจะไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปไม่ได้ ไม่ทราบว่าควรเตรียมความพร้อมให้ลูกอย่างไร ซึ่งก่อนนำเด็กเข้าเรียน เด็กควรมีพื้นฐานสำคัญในเรื่องต่างๆดังนี้

          1. การเข้าใจคำสั่งง่ายๆ สามารถตอบสนองได้บ้าง

          2. สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองได้บ้างเล็กน้อย

          3. เด็กสามารถนั่งทำกิจกรรมต่างๆได้นานพอประมาณ

          4. ไม่มีพฤติกรรมที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อผู้อื่น

     สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้มาจากการฝึกฝนปรับพฤติกรรมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

     ในการประเมินความพร้อมในการเข้าเรียนของเด็กออทิสติกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เด็กคุ้นเคยกับสถานที่หรือไม่ คุ้นเคยกับผู้ประเมินหรือไม่ ถ้าไม่คุ้นเคย เด็กย่อมไม่ร่วมมือ และดูเหมือนจะไม่มีความพร้อมทั้งๆ ที่เด็กทำได้

     โดยทั่วไป เราไม่ต้องรอให้เด็กมีความพร้อมทุกอย่างแล้วค่อยเข้าเรียน แต่เราควรให้เด็กเข้าเรียนเพื่อสร้างความพร้อมเพิ่มขึ้น ใช้สังคมเด็กวัยเดียวกันเป็นตัวกระตุ้นในการเรียนรู้ เช่น ไม่ต้องรอให้เด็กพูดได้แล้วค่อยเข้าเรียน แต่เราให้เด็กเข้าเรียนเพื่อกระตุ้นให้พูดได้ ถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการเหล่านี้ตรงกัน ก็ไม่ต้องไปกังวลเรื่องการประเมินความพร้อม อาจมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมความพร้อมบ้างในบางด้าน แต่ไม่ต้องรอจนพร้อมทุกด้าน

     เด็กออทิสติกสามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของปัญหาและความพร้อมบางด้านที่จำเป็น โดยทั่วไปเด็กสามารถเรียนร่วมได้ถ้าผ่านการฝึกฝนปรับพฤติกรรมแบบเข้มข้นตั้งแต่เล็ก และทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้หรือไม่ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับ การวิเคราะห์ดูว่ารูปแบบการเรียนรู้แบบใดเหมาะสมกับตัวเด็กมากที่สุด สามารถดึงศักยภาพในตัวเด็กให้แสดงออกมาได้มากที่สุด

     อุปสรรคที่มักพบเมื่อต้องเข้าเรียนในโรงเรียนเรียนร่วมส่วนใหญ่ คือ ความเข้าใจและการยอมรับของโรงเรียน บางแห่งครูไม่รู้จักว่าเด็กออทิสติกเป็นอย่างไร ไม่มีประสบการณ์ในการสอนและดูแลมาก่อน ดังนั้น จึงต้องมีการพูดคุยสื่อสารให้ชัดเจนระหว่างผู้ปกครองและครูอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอว่าพฤติกรรมแต่ละเรื่องจะแก้ไขอย่างไรโดยเพ่งเป้าที่พฤติกรรม นอกจากนี้ อาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ ก็จะช่วยทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความราบรื่น  ถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ปกครอง ครู และทีมแพทย์ที่ดูแลเด็ก ก็จะช่วยให้สามารถฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรคไปได้อย่างแน่นอน

 

     ในปัจจุบันถือว่าเด็กออทิสติกมีทางเลือกมากขึ้นเพราะมีรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ที่หลากหลายให้เลือกตามความต้องการที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน มีทั้งศูนย์ของภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ และสมาคม เช่น ศูนย์การศึกษาพิเศษ, โรงเรียนราชานุกูล, คลินิกเฉพาะทางของโรงพยาบาล, ศูนย์เด็กพิเศษ เป็นต้น

     ในด้านการเรียนรู้ต่างๆ โดยทั่วไปควรออกแบบการเรียนรู้เป็นรูปแบบเฉพาะบุคคล ที่เรียกว่า โปรแกรมการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หรือ IEP (Individualized Educational Program) เพื่อให้รองรับสภาพปัญหา และความสามารถของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน โดยเน้นทักษะสังคม ทักษะการใช้ภาษาและการสื่อสาร ทักษะการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน เพิ่มเติมจากทักษะทางวิชาการทั่วไป นอกจากนี้ผู้ปกครองควรนำวิธีการต่างๆ ที่เด็กฝึกฝนกับผู้เชี่ยวชาญกลับมาประยุกต์ใช้และฝึกฝนอย่างต่อเนื่องที่บ้าน เพราะการที่เด็กจะพัฒนาดีขึ้นได้ ไม่ใช่เกิดจากการฝึกแค่สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แต่เกิดจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทุกวัน

 

                     

 

     สำหรับเพื่อนของเด็กออทิสติก เน้นการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ถือเป็นการทำความดีได้โดยชวนเพื่อนไปเล่นด้วย ชวนเข้ากลุ่มกิจกรรม ชวนไปทานข้าวด้วย เข้ามาพูดคุยด้วย ครูควรชมเชยเพื่อนคนที่คอยช่วยเหลือเด็กออทิสติก ยกย่องเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กมีน้ำใจ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจและเด็กคนอื่นๆ รู้สึกอยากเข้ามาช่วยเหลือบ้างถ้าเด็กโตพอในระดับที่เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดีแล้ว ครูอาจจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อนนักเรียนในห้องโดยให้ความรู้เกี่ยวกับเด็กที่เป็นออทิสติกก่อน

 

 

     เด็กนักเรียนที่มีเพื่อนร่วมห้องเป็นออทิสติกด้วยถือว่าโชคดีมาก เพราะมีโอกาสพัฒนาในเรื่อง EQ ไปในตัวโดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกเรื่องการมีน้ำใจ เอื้ออาทรต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถปรับตัวเข้ากับความแตกต่างได้ดีกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งดีกว่าการพูดสอนโดยไม่เคยลงมือทำ

     เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าเรียนของเด็กออทิสติก จะเห็นได้ว่าไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายเกินความสามารถเลยหากจะมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนหรือเด็กในความดูแลสักคนที่เป็นออทิสติก เพียงแค่ทุกฝ่ายร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือและเสริมสร้างทักษะ พัฒนาการต่างๆ อย่างจริงจังและตั้งใจจริง สุดท้ายนี้ดิฉันขอฝากไว้ว่า

 

“การเรียนรู้ร่วมกันในความแตกต่าง ช่วยให้ทุกฝ่ายมีการเติบโตไปพร้อมๆกันมีการเจริญงอกงามทางความคิด จิตใจ และอารมณ์ไม่เฉพาะเด็กออทิสติกเท่านั้นที่พัฒนา เด็กปกติก็มีการพัฒนาด้วยเช่นกัน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม